รง.น้ำตาล เล็งเลื่อนเปิดหีบเร็วขึ้น2สัปดาห์ หลังคาดผลผลิตอ้อย54/55สูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 18, 2011 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จากการประเมินผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 54/55 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณผลผลิตอ้อยสูงถึง 100 ล้านตัน หลังจากชาวไร่ได้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศที่มีปริมาณน้ำฝนเอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นอ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจึงเตรียมหารือถึงกรอบระยะเวลาในการเปิดหีบอ้อยเพื่อรองรับผลผลิตปี 54/55 ให้เร็วขึ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จากเดิมที่เปิดหีบช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้มีระยะเวลารับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ และปิดหีบได้ทันก่อนที่จะย่างเข้าสู่ฤดูฝนของปี 2555

“สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ด้านอ้อยที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวไร่อ้อย ซึ่งเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นได้มีการหารือกันในที่ประชุม และเป็นข้อสรุปออกมาว่า หากปริมาณผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 54/55 สูงถึง 100 ล้านตัน ต้องมีวันหีบอ้อยแต่ละโรงอย่างน้อย 127 วัน รวมระยะเวลาเหลื่อมกันระหว่างโรงงานแรกที่เปิดหีบและโรงสุดท้ายอีก 2-3 สัปดาห์ ทำให้ต้องมีระยะเวลาเปิดหีบอย่างน้อย 150 วัน จึงต้องเลื่อนการเปิดหีบเร็วขึ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายหากปิดหีบล่าช้าจนย่างเข้าสู่ฤดูฝนเหมือนกับฤดูการผลิตปี 53/54 ซึ่ง มีอ้อยค้างไร่เป็นจำนวนมาก” นายประกิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเลื่อนเปิดหีบให้เร็วขึ้นอยู่ที่ความ พร้อมของแต่ละโรงงาน ที่จะบริหารจัดการให้เหมาะสมตามปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อบริหารจัดการและเอื้อประโยชน์ต่อรายได้ชาวไร่อ้อยสูงสุด

นายประกิต กล่าวว่า จากปริมาณผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 53/54 ที่มีอ้อยเข้าหีบสูงถึง 95.36 ล้านตันอ้อย โดยจากสถิติ พบว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2554 มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานสูงถึง 790,000 ตัน ขณะที่โรงงานน้ำตาลมีความสามารถรองรับผลผลิตตามขนาดลูกหีบได้เพียง 640,000 ตัน เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการหีบอ้อยที่ทำให้โรงงานน้ำตาลบางแห่งจำเป็นต้องขยายเวลาหีบอ้อยออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยที่ตัดแล้วมีความเสียหาย และนำมาแปรรูปเป็นผลผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณที่ลดลง ทำให้ชาวไร่อ้อยสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ

ดังนั้นปัญหาหนึ่งที่โรงงานน้ำตาลทรายประสบก็คือ เรื่องการจัดคิวอ้อยที่เข้าสู่โรงงาน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วย การตัดและส่งอ้อยให้แก่โรงงานฯ พ.ศ.2553 อยู่แล้ว คณะทำงานก็เห็นพ้องว่าจะยึดหลักเกณฑ์นี้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความหวานของอ้อยที่เหมาะสมในการผลิตเป็นน้ำตาล ในแต่ละพื้นที่เพาะปลูกด้วย

นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลจะย้ำเตือนชาวไร่ในเรื่องของการปรับปรุงผลผลิตอ้อยให้มีคุณภาพ ปราศจากสิ่งปนเปื้อน หากผลผลิตอ้อยมีการปนเปื้อนสูง โรงงานน้ำตาลทรายจำเป็นจะต้องพิจารณาปฏิเสธรับผลผลิตอ้อย เนื่องจากปัญหาอ้อยปนเปื้อนได้สร้างความเสียหายต่อเครื่องจักรหีบอ้อย ที่ต้องหยุดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ ทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุด เพื่อซ่อมบำรุง ส่งผลให้การรับผลผลิตอ้อยต้องล่าช้าออกไปจนส่งผลเสียหายต่อการผลิตน้ำตาลโดยรวม

ทั้งนี้ สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 3 สมาคม จะมีการสัมมนาประจำปี ในช่วงวันที่ 25-26 สิงหาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะนำประเด็นเหล่านี้เข้าหารือในที่ประชุมสัมมนาด้วย โดยปีนี้เราใช้แนวคิดการสัมมนาว่า ‘Green & Clean’ (กรีนแอนด์คลีน) ดังนั้นเรื่องของอ้อยสด อ้อยสะอาด นอกจากจะเป็นเรื่องหลักแล้ว ยังมีเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นประเด็นสำคัญด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ