"กิตติรัตน์"ชี้ไทยหมดยุคแรงงานถูก จี้เอกชนขึ้นค่าแรงไม่ต้องรอมติไตรภาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 18, 2011 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 นอกจากการลดภาษีสินค้าทุกรายการเหลือ 0% แล้ว ยังมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนที่จะทำได้อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งในส่วนของไทยยืนยันว่าจะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป และประเทศใดก็ตามที่มาลงทุนในไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องค่าแรงงานของไทยด้วย

"ไม่อยากให้ธุรกิจกังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงแล้วจะแข่งขันไม่ได้ เพราะการเพิ่มค่าแรงจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของแรงงานด้วย ซึ่งภาครัฐพร้อมจะสนับสนุนเอกชนในเรื่องการเพิ่มทักษะแรงงานด้วยเช่นกัน" นายกิตติรัตน์ กล่าวในงานเสวนา AEC and SMEs Challenges : Next Steps (Phase 2)

รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะหารือกับภาคเอกชน เช่น หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ซึ่งเบื้องต้นอยากให้ภาคเอกชนดำเนินการทันทีโดยไม่ต้องรอมติของคณะกรรมการไตรภาคี

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในการดูแลภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)นั้น รัฐบาลมีแผนเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ด้วยการปรับมาตรฐานของธุรกิจให้เป็นสากล พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ภาษาต่างประเทศ และภาษาเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาด้านการตัดราคาระหว่างผู้ประกอบการ เป็นต้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากทำได้ตามแผนจะผลักดันยอดส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียน จีน อินเดีย และญี่ปุ่นได้มากขึ้น และเชื่อว่าหลังเปิด AEC ในปี 58 แล้วจะทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยในภาพรวมโตได้ไม่ต่ำกว่า 20-30% หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันมองหาตลาดในต่างประเทศมากขึ้น

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและภาคเอกชนยังมีแนวคิดเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำที่แตกต่างกันอยู่ โดยรัฐบาลต้องการให้เอกชนขึ้นค่าแรงได้เลย แต่เอกชนมองว่าควรต้องทำตามมติของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งไม่ว่ามติจะออกอย่างไรก็ขอให้เป็นเอกฉันท์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ