นักวิชาการ ม.รังสิตมองขึ้นค่าแรงเพิ่มอำนาจซื้อ-ลงทุนในปท.หากคุมเงินเฟ้ออยู่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 18, 2011 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายมิติ ทั้งความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ค่าตอบแทนฝีมือการทำงาน ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและผลที่มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มองว่าหากทางการสามารถจัดการกับแนวโน้มการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อได้ การขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะกำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในประเทศถึง 42% มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง ดังนั้น หากยกระดับกำลังซื้อด้วยการเพิ่มค่าจ้างได้ก็จะมีผลไปต่อแรงงานนอกระบบสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

หากคิดจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาทจะทำให้สูงขึ้นถึงราว 35.74% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อยู่ในระดับสูงสุดปัจจุบันนี้ แต่หากเทียบกับจังหวัดที่ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำถูกที่สุด ถือว่าสูงขึ้นถึง 88.67% (กรณีจังหวัดพะเยา) ดังนั้น เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นกว่า 1 ใน 3 เท่าตัว

ส่วนภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ ขนาดและกำลังการผลิตรวม ผลิตภาพของแรงงาน ระดับความเข้มข้นการใช้แรงงานไม่มีทักษะ และ กำไรขั้นต้นต่อชิ้นสินค้า เป็นต้น

"หากมองในมิติของต้นทุนต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในหลายพื้นที่อาจเป็นภาระที่หนักเกินไปหากต้องขึ้นค่าแรงทีเดียวถึง 50-80% อาจประสบภาวะขาดทุนหรือกำไรลดลงอย่างมาก หรือหากปรับตัวไม่ได้ก็อาจต้องปิดกิจการไป อย่างไรก็ตาม การสร้างกระแส สร้างความรู้สึกว่าปรับค่าแรงขั้นต่ำในอัตราก้าวหน้าแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการถึงขั้นปิดกิจการจำนวนมาก ก็ดูเหมือนจะเป็นวาทกรรม หรือความจริงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งกลุ่มตนเสียมากกว่าเป็นความจริงเชิงข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นด้านที่น่าเห็นอกเห็นใจบรรดาผู้ใช้แรงงานเสียมากกว่า" นายอนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป และคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต พบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันโดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ คงที่จะพบว่าสัดส่วนค่าจ้างและแรงงานต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศจะปรับเพิ่มจาก 17.06% เป็น 23.48% หรือเพิ่มขึ้นเพียง 6.42% โดยเฉลี่ย ส่วนสัดส่วนค่าจ่างและเงินเดือนต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ จะปรับเพิ่มจาก 14.14% เป็น 20.48% หรือเพิ่มขึ้นเพียง 6.34% โดยเฉลี่ย

จากการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 70,355 ราย และวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 3,576 ราย พบว่าค่าจ้างและเงินเดือนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศมีสัดส่วนเฉลี่ย 17.06% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ส่วนค่าจ้างและเงินเดือนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีสัดส่วนเฉลี่ย 14.14% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ด้านการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันที่มีต่อ SMEs ในอุตสาหกรรมการผลิต พบว่า 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนค่าจ้างและเงินเดือนต่อต้นทุนการผลิตสูงที่สุด ได้แก่ การผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น 7.59%, การผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสารเพิ่มขึ้น 7.44%, การผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งรถพ่วง เพิ่มขึ้น 7.36%, การพิมพ์โฆษณา การพิมพ์ และการทำสำเนาสื่อบันทึก เพิ่มขึ้น 7.12% และ การผลิตสิ่งทอ เพิ่มขึ้น 7% ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างมากสุดโดยรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเป็นพิเศษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ