(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"เชิญชวนร่วมกดดัน กนง.ชะลอขึ้นดอกเบี้ยพยุงภาคธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 19, 2011 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ มองว่า ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยควรจะอ่อนตัวลงเพื่อช่วยพยุงภาคธุรกิจไม่ให้มีต้นทุนมากขึ้น โดยภาคธุรกิจควรขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยเรื่องการปรับลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยที่สูงจะเป็นต้นทุนภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเอกชนไม่เคยลุกขึ้นมาร้องขอ แต่สิ่งที่เห็นคือการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูดซับสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการมุ่งจะสกัดเงินเฟ้อเท่านั้น ซึ่งมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยคงไม่สามารถช่วยได้ เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

"ผมเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันพูดเรื่องของดอกเบี้ย เพื่อจะได้สื่อไปถึง กนง. ไม่ใช่ว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะช่วยยับยั้งเงินเฟ้อ" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าว

ส่วนกรณีการปรับเงินเดือนขั้นต้นให้กับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้าตามนโยบายทันที ด้วยการจะปรับขึ้นค่าแรงลูกจ้างและข้าราชการในหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งจะดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปี 55

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ไม่ใช่เป็นนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจผุ้มีรายได้น้อย เพราะรัฐบาลได้เตรียมลดภาษีนิติบุคคลให้กับภาคธุรกิจจาก 30% เหลือ 23% ในปี 55 และ 20%ในปี 56 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการลงทุนเครื่องจักร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน หรืออาจจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน หรือตามแนวชายแดน เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ โดยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานมากขึ้น

"เราไม่มีปัญหาเรื่องว่างงาน เรามีอย่างเดียวคือมีงานทำแต่ค่าแรงต่ำ เราจะดึงให้ค่าแรงสูง จะได้มีกำลังซื้อสูงขึ้น จะทำให้กำลังซื้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ...เรากำลังเปลี่ยนสมดุลประเทศไทย"นายกิตติรัตน์ กล่าว

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีปัญหาคล้ายคลึงในสหรัฐที่เป็นภาวะรวยกระจุกจนกระจาย และเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้เป็นต้นเหตุที่จะทำให้เงินเฟ้อสุงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ