(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ เผย GDP ช่วง Q2/54 โต 2.6%,H1/54 โต 2.9% คาดทั้งปี 3.5-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2011 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาสที่ 2/54 ขยายตัวที่ระดับ 2.6% ต่ำกว่า 3.2% ไตรมาสที่ 1/54 เล็กน้อย โดยหากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.2(%QoQ SA)

แต่หากรวมทั้ง 2 ไตรมาสหรือครึ่งปีแรก GDP มีอัตราเติบโตที่ระดับ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 53 ที่ถือว่าตัวเลข GDP ในปี 53 ดีมาก

"ในไตรมาส 2 ตัวที่ทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโต 2.6% ในอัตราที่ชะลอลงนั้นส่วนที่สำคัญมาจากภาคการส่งออก แม้จะขยายตัวได้ดีแต่ยังต่ำกว่าไตรมาส 1 เนื่องจากสินค้าหมวดหลัก รถยนต์ อิเลคทรอนิคส์ อัญมณี สิ่งทอ ติดลบในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งรถยนต์ อิเลคฯ เป็นหมวดใหญ่ในการส่งออกรับผลจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่น ทำให้ซัพพลายชิ้นส่วนรถยนต์ส่งผลกระทบทั่วโลก ไทยก็ได้รับเช่นเดียวกัน แต่หลังไตรมาส 2 ก็ปรับตัวดีขึ้น"นายอาคม กล่าว

ส่วนการประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 54 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.0% จากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 3.5-4.5% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 16.5% การบริโภคและการลงทุนเอกชนขยายตัว 3.3% และ 8.7% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป 3.6-4.0% อัตราการว่างงาน 0.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.4% ของ GDP

ขณะที่คาดว่าค่าเงินบาทในครึ่งปีหลังจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี โดยประเมินค่าเงินบาททั้งปีนี้อยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาท/ดอลลาร์ และเขื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะมาอยู่ที่ 19 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดไว้ 18.6 ล้านคน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 54 ได้แก่ (1) การบริหารจัดการราคาสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต นอกจากนี้การปรับขึ้นราคาส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการลดลงของสินค้า ซึ่งอาจถูกกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า เช่น ภาวะน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและการเตรียมพร้อมทางด้านมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบอย่างทันเหตุการณ์

(2) การสร้างความมั่นคงให้แก่รายได้ของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนที่รุนแรงขึ้นของสภาพอากาศ โดยเพิ่มพื้นที่และพัฒนาระบบชลประทาน ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต มีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน และใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงต่างๆ

(3) การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันรวมถึงการส่งเสริมการยกระดับการผลิตจากการใช้แรงงานสูงไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคจากข้อจำกัดด้านแรงงานตึงตัว (4) การเตรียมพร้อมของนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน

และ (5) การวางนโยบายการคลังอย่างเหมาะสม และเร่งรัดการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มล่าช้าออกไป และควรเพิ่มบทบาทการลงทุนร่วมจากภาคเอกชนให้มากขึ้น

สำหรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 55 นั้น นายอาคม กล่าวว่า คงต้องรอฟังการแถลงนโยบายจึงจะสามารถคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าได้ ซึ่งหลังจากแถลงนโยบาย สภาพัฒน์ฯ คงได้มีการหารือกับทางสำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กระทรวงการคลัง ในการคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้า และเชื่อว่าการจัดทำกรอบงบประมาณสมดุลรัฐบาลคงจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากแถลงนโยบายแล้ว

นายอาคม กล่าวว่า การที่ปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อจาก 3-3.8% เป็น 3.6-4% เนื่องจากมองว่าน้ำมันในตลาดโลกยังปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยยังไม่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สินค้าหมวดอาหาร ราคาเริ่มทรงตัวแล้ว อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อครั้งนี้ ยังไม่รวมผลจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 300 บาท หรือ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

"นโยบายของรัฐบาล มีทั้งส่วนเพิ่มแรงงาน ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มอขึ้น ซึ่งยอมรับว่าเป็นต้นทุนของภาคเอกชน แต่อีกด้านรัฐบาลก็มีนโยบายลดรายจ่าย เช่นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โครงการฝึกอบรมทักษะแรงงาน" นายอาคม กล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 24 ส.ค.54 จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายอาคม กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองเศรษฐกิจ over heat ต้องพิจารณาให้รอบด้านเกี่ยวกับความจำเป็นของการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ นโยบายดอกเบี้ยต้องพิจารณาการลงทุนและการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่แท้จริง ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนมีเม็ดเงินลงทุนเพื่อมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต ระบบลอจิสติกส์ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็น่าจะเป็นอุปสงค์ที่จำเป็นเพราะปัจจุบันไทยยังมีการลงทุนด้านนี้ต่ำ

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมขณะนี้มองว่ายังคงต้องให้น้ำหนักด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมากกว่าการเติบโตเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในระดับที่คาดการณ์ที่ 3.5-4% ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ดี

นายอาคม มองว่า เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก หากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีตามไปด้วย ภาคการส่งออกของไทยคิดเป็น 70%ของจีดีพี แม้ขณะนี้มีปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป แต่การส่งออกในเอเซียยังขยายตัวได้ แต่ในระยะยาวไทยต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตร อาหาร และเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่ที่สุดเพื่อสร้างกำลังซื้อในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ