หอการค้าแนะปฏิรูปปาล์มน้ำมันทั้งระบบป้องกันการนำเข้าทะลักหลังเปิด AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 23, 2011 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอประเทศไทยเร่งปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เพราะหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อุตสาหกรรมปาล์มไทยจะประสบปัญหาทันทีเนื่องจากการไหลเข้าของปาล์มน้ำมันราคาถูกจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย จากการลดภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมัน ทำให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมปาล์มในประเทศประสบปัญหา และกลายเป็นการพึ่งพาการนำเข้าแทนการผลิตในประเทศเป็นผลจากต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก ไม่สามารถแข่งขันได้

"ไทยควรเร่งปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ ใช้พันธุ์ปาล์มที่ให้ผลผลิตสูง เช่น พันธุ์เทเนอร่าเหมือนที่มาเลเซียใช้อยู่ ซึ่งให้เปอร์เซ็นต์การสกัดป็นน้ำมันปาล์มสูง ถึง 20.45% และมาเลเซียมีเป้าหมายเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสกัดน้ำมันปาล์มเป็น 23% ในปี 2563 ขณะที่ปาล์มน้ำมันของไทยที่ผลิตอยู่ 1 ทะลาย สามารถสกัดเป็นน้ำมันปาล์มได้ 17% เท่านั้น" นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

พร้อมทั้งเห็นควรให้มีการยกเลิกคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และตั้งสถาบันนโยบายและพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (สนป.) ในรูปแบบขององค์กรมหาชนขึ้นมาแทนที่ กนป.อย่างเร่งด่วน โดยโครงสร้างของ สนป.ควรประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรายใหญ่และรายย่อย 33% หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 33% และนักวิชาการ 33% แต่บทบาทหลัก 70% ควรอยู่ที่ภาคเกษตรกร

นอกจากนี้ ควรจัดทำร่างกฎหมายการพัฒนาปาล์มน้ำมันของชาติ ควบคุมการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม และเน้นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสกัดน้ำมันปาล์ม บริหารสต็อกน้ำมันปาล์มให้มีประสิทธิภาพทั้งการบริโภคและพลังงานทดแทน เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์วิกฤติน้ำมันปาล์มเหมือนช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันสต็อกน้ำมันปาล์มของไทยอยู่ที่ 350,000 ตัน

"ปาล์มน้ำมันเป็นอีกพืชเศรษฐกิจหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาหลังเปิด AEC ต่อจากข้าวและกาแฟ หากจะให้อยู่รอด รัฐบาลใหม่ต้องตั้งสถาบันนโยบายและพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (สนป.) เป็นองค์กรมหาชน แทนคณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) เพื่อให้ปลอดจากการเมือง โดยทำหน้าที่ออกกฎหมายการพัฒนาปาล์มน้ำมันของชาติ กำหนดแผนปฏิรูป บริหารจัดการ พัฒนาการผลิต และเป้าหมายการผลิต เพื่อให้เกิดการใช้น้ำมันที่เป็นระบบ...ทุกวันนี้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่จัดเก็บรวมรวบไม่ตรงกัน ไม่รู้ข้อมูลของหน่วยงานไหนถูกต้อง แม้กระทั่งตัวเลขสต็อกของประเทศ โดยระยะสั้นต้องมุ่งเรื่องลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนการขยายพื้นที่ปลูก”

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสำคัญที่ควรทำคือช่วยเกษตรกรลดต้นทุนจากปัจจุบันต้นทุนการเพาะปลูกของไทยอยู่ที่ไร่ละ 9,895 บาท แต่มาเลเซียมีต้นทุนผลิตเพียงไร่ละ 2,560 บาท ถูกกว่าไทยเกือบ 4 เท่า

*สถานการณ์ของไทยเข้าขั้นวิกฤติ

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยเข้าขั้นวิกฤติเมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่กำลังกลายเป็นดาวรุ่งและผู้ทำเงินจากธุรกิจปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม

"เวลานี้สถานะของไทยเรียกว่าแย่ ขณะที่มาเลเซียเป็นดาวรุ่ง ส่วนอินโดนีเซียเป็น Cash Cows หรือผู้ทำเงินจากธุรกิจปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม"นายอัทธ์ กล่าว

ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มในอาเซียนและตลาดโลกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งในอาเซียนเพียง 2.2% และ 0.4% ในตลาดโลก ขณะที่อินโดนิเซียมีส่วนแบ่งตลาดอาเซียนที่ 63.1% และ 46.9% ในตลาดโลก ส่วนมาเลเซียมีส่วนแบ่งในตลาดอาเซียนที่ 34.7% และ 43.3% ในตลาดโลก

ขณะที่ราคาผลปาล์มและน้ำมันดิบของไทย โดยในปี 2554 ราคาผลปาล์มน้ำมันของไทยมีราคา 5.82 บาท/กก. น้ำมันปาล์มดิบ 41.16 บาท/กก. สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียที่ซื้อขายกันอยู่ที่ 34.49 บาท/กก. หรือสูงกว่า 6.67 บาท/กก. ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยและมาเลเซียก็เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สัดส่วนผู้ปลูกปาล์มของไทย 75% เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 25 ไร่ต่อราย ทำให้ขาดอำนาจในการต่อรอง ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีสัดส่วนเกษตรกรรายย่อย 13.9% และ 42% มีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 250 ไร่ต่อราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ