(เพิ่มเติม) รัฐ-เอกชนร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้ดินเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 23, 2011 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทบ.) และ บมจ.ปตท.(PTT) ประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานที่มีในประเทศ และศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่เหมาะสมที่สุดภายในระยะเวลา 2 ปี และเพื่อพัฒนาให้ได้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพของไทยที่จะเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบให้ชุนชนในพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้าได้ใช้ โดย ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนสำรวจและนำความร้อนใต้พิภพขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่ง ปตท.จะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท และพื้นที่ที่น่าจะมีความร้อนใต้พิภพคาดว่าจะอยู่ในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ และเชียงราย เป็นต้น

โดยวันนี้ อธิบดี พพ.ได้ร่วมลงนามกับนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดี ทบ. และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในบันทึกความร่วมมือศึกษาพัฒนาต้นแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดลดปัญหาภาวะโลกร้อน

อธิบดี พพ. กล่าวว่า ในเบื้องต้น พพ.จะสนับสนุนด้านนโยบาย และมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ ส่วน ทบ.จะสนับสนุนในด้านการสำรวจ ประเมินศักยภาพ และพัฒนาแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาล และ ปตท.จะดำเนินโครงการในขั้นการพัฒนาแหล่งและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซี่งหากศึกษาและพบว่าเหมาะสมจะดำเนินการพัฒนาต่อไปให้เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบ

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลว่าจะใช้พื้นที่ใดสร้างเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าจากความร้อนใต้พิภพ ซึ่งมีอยู่หลายภาค อาทิ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งนื้เชื่อว่าการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติและทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศลงด้วย นอกจากนี้เชื่อว่าประชาชนจะไม่ต่อต้านเนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากมีกำลังการผลิตประมาณ 2-10 เมกะวัตต์เท่านั้น และนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ในชุมชนของชาวบ้านเองด้วย

อธิบดี พพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี(ปี 2550-2565) เป็น 25% จากเดิมอยู่ที่ 20% ตามนโยบายการส่งเสริมทางด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาล และเพิ่มระยะเวลาของแผนเป็น 20 ปี เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่สนใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นจำนวนเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งเป้าหมายที่ 500 เมกกะวัตต์ แต่มีผู้สนใจผลิตจำนวน 3 พันเมกะวัตต์ และพลังงานลมตั้งเป้าหมายที่ 800 เมกะวัตต์ แต่มีผู้สนใจผลิตจำนวน 1.6 พันเมกะวัตต์ โดยการปรับแผนดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ตามที่วางไว้ นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงแผนการประหยัดพลังงานควบคู่กับมาตรการการชดเชยราคาพลังงานชนิด เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายประเสริฐ กล่าวว่า ปตท.มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานให้ประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาพลังงานทางเลือกสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในความร่วมมือครั้งนี้ ปตท.ปรารถนาจะให้ประเทศไทยมีพลังงานที่สะอาดอีกชนิดใช้ และเป็นผู้นำผลักดันการศึกษาพัฒนาแหล่งพลังงานใต้พิภพในประเทศให้มีการนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ ถือเป็นพลังงานทดแทนที่ได้จากแหล่งหิน(source rock) หรือแหล่งน้ำใต้ดินที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่า 150 องศาเซลเซียส ที่เคยค้นพบได้ในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิของน้ำเมื่อขึ้นมาถึงผิวดินสูงประมาณ 80 องศาเซลเซียส ซึ่งพลังงานที่มีน้ำเป็นตัวพาขึ้นมาสามารถนำมาเปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้าได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถทำให้แหล่งพลังงานใต้พิภพในประเทศไทยให้พลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าที่เคยทำการศึกษามาในอดีต

นายประเสริฐ กล่าวว่า การที่รัฐบาลต้องการให้รัฐวิสาหกิจขยายลงทุนในแหล่งพลังงานมากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งปัจจุบัน ปตท.และบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้แก่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) มีการลงทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลก็ได้มีการสนับสนุนด้านนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงาน ส่วนด้านการเงินที่ผ่านมาทาง ปตท., เอ็กโก้, ราชบุรี ก็ไม่เคยขอเงินจากภาครัฐเพื่อมาลงทุนดังกล่าว

สำหรับปัญหาในประเทศลิเบียที่เริ่มสงบมากขึ้น เชื่อว่าถ้าเกิดความสงบจะทำให้กำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาลิเบียหยุดการผลิตน้ำมันไปบางส่วน อย่างไรก็ตามคาดว่าอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน กว่าเหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันประเทศอื่นที่ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อชดชเยในช่วงที่ลิเบียเกิดปัญหา ก็จะต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันลง โดยราคาน้ำมันจะไม่หวือหวามากนัก โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบยังอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ปตท.ยังสนใจลงทุนในการผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้นโดยที่ผ่านมาได้มีวงเงินจำนวน 6 พันล้านบาทในการพัฒนาและลงทุนพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทในเครือ ปตท. แต่ละบริษัทฯ ได้มีการทำพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ด้านนายปราณีต กล่าวว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไทยอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งน้ำสะอาดที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค และยังมีเพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือการปศุสัตว์

สำหรับน้ำบาดาลที่กักเก็บอยู่ใต้ดินในระดับลึกมากมีศักยภาพเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ทดแทนแหล่งพลังงานจากฟอสซิลในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมให้การสนับสนุนบุคลากร รวมถึงแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาลภายใต้การดำเนินงานโครงการศึกษาพัฒนาต้นแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของประเทศไทย และหากมีการพัฒนาใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพได้อย่างเป็นรูปธรรม ย่อมจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้พลังงานที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ