นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ว่า กนง.มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 3.25% ต่อปี เป็น 3.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที และทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเหลือ 0.35% จากติดลบ 0.6% พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยใกล้เข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น ส่วนการประชุมในครั้งต่อไปคงต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นเป็นปัจจัยในการพิจารณา
"ดอกเบียใกล้ถึงจุดสมดุลมากขึ้น ถ้าเป็นการเดินทางก็ใกล้ถึงฝั่ง แต่ถ้ามีน้ำเชี่ยวมาก็อาจพัดให้ถึงฝั่งหรือไกลออกจากฝั่ง ต้องดูคราวหน้าว่ากระแสน้ำเป็นอย่างไร จะพัดให้เราถึงฝั่งโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลยหรือไม่"นายไพบูลย์ กล่าว
ในที่ประชุมวันนี้ กนง.มีมติเสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 2 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าแม้ความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะสูงขึ้นจากการประชุมครั้งที่แล้จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมยังมีแรงขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้ และยังได้นำนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและค่าจ้างผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาพิจารณาด้วย
ขณะที่ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อในอนาคตก็สูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับ ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ กนง.จึงเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าใกล้ระดับสมดุลมากขึ้น เพื่อดูแลแรงกดดันเงินเฟ้อในอนาคตยังเป็นนโยบายที่เหมาะสม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ยังจะให้น้ำหนักกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อต่อไป เพราะแม้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง แต่อุปสงค์ในประเทศที่เติบโตดีและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังเอื้อให้แรงกดดันด้านราคามีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนเร่งตัวขึ้นด้วย
"เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีระดับหนึ่ง และจะยังขยายตัวดีต่อเนื่องในอนาคต แต่ถ้ามีการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของประชาชนจะสูงขึ้น ทำให้เกิดการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวอีกด้าน แบงก์ชาติยังกังวลอัตราความเสี่ยงของเงินเฟ้อในอนาคต ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการใช้จ่าย กนง.เห็นทิศทางเดียวกันว่าเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีพอสมควรแล้ว หากจะขยายตัวมากกว่านี้แรงกดดันเงินเฟ้อจะสูงขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาด เศรษฐกิจของประเทศหลักในยุโรปเริ่มขยายตัวชะลอลงบ้าง แต่คาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียจะสามารถรองรับผลกระทบจากการชะลอตัวดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งจากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ในประเทศและภาคการส่งออกที่มีความเข้มแข็งและปรับตัวได้ดี นอกจากนี้ฐานะด้านการเงินการคลังก้ยังอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นแศรษฐกิจได้หากจำเป็น
กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ชะลอลงจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยบ้าง โดยน่าจะบรรเทาลงจากการค้าภายในภูมิภาคเอเชียและการกระจายการส่งออกไปตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ส่วนการบริโภคและการลงทุนในประเทศคาดว่าจะยังเติบโตได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ความต้องการสินเชื่อที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป
ส่วนผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาระยะหนึ่ง พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายมีทั้งแรงผลักและแรงดึง โดยแรงดึงคือเศรษฐกิจไทยและเอเชียที่ขยายตัวดีกว่ายุโรปและสหรัฐ ขณะที่แรงผลักคือการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่ก็ทำให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าจึงเข้ามาในเอเชียและไทย
"อัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการดึงดูดเงินทุน เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือตัวแปรสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงชึ้นมาก ดังนั้น ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายเช้าประเทศจะเป็นเพียงปัจจัยเรื่องหนึ่งเท่านั้นที่ กนง.จะพิจารณา ซึ่งจะดูผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนว่าเป็นอย่างไร นอกจากผลกระทบที่เกิดจากเงินเฟ้อ"นายไพบูลย๋ กล่าว