Xinhua's Interview: "โรเบิร์ต มันเดลล์" แนะ 3 แนวทางจัดการวิกฤตหนี้ยูโรโซน

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 25, 2011 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโรเบิร์ต มันเดลล์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กำลังกว้านซื้อพันธบัตร ถือเป็นการกระทำที่ "เข้าใจได้และจำเป็น" อย่างไรก็ดี ยูโรโซนควรทำตามแนวทาง 3 ประการเพื่อจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

ระหว่างเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดาครั้งที่ 4 ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์ นายมันเดลล์ให้สัมภาษณ์กับ ฮัน โม และ เจิ้ง ฉีฮั่ง จากสำนักข่าวซินหัวว่า แม้การที่อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรองจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักสังเกตการณ์และนักการเมือง แต่อีซีบีก็จำเป็นต้องช่วยเหลือประเทศยูโรโซนที่อ่อนแออย่างอิตาลีและไอร์แลนด์

ก่อนที่นายมันเดลล์จะให้ความเห็นดังกล่าว ประธานาธิบดีคริสเตียน วูล์ฟ ของเยอรมนี ได้กล่าวเปิดการประชุมว่า การที่อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศยูโรโซนที่อ่อนแอ จะเป็นอันตรายและทำให้เกิดปัญหามากขึ้นในระยะยาว

นายมันเดลล์กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงและความเสี่ยงที่อาจเกิดการล้มละลายครั้งใหญ่ในประเทศยูโรโซนที่เป็นหนี้ กลายเป็นปัญหาสำคัญของยูโรโซนไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ายูโรโซนจะยอมถอยในตอนนี้

"มีแนวทาง 3 ประการที่ยูโรโซนต้องดำเนินการ" นายมันเดลล์กล่าว "ประการแรกคือ เพื่อให้แต่ละประเทศอย่างกรีซ อิตาลี โปรตุเกส และสเปน รับผิดชอบตัวเองได้นั้น ประเทศเหล่านี้ต้องปรับปรุงแก้ไขและหานโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมสำหรับช่วงเวลาที่ต้องรัดเข็มขัดเช่นนี้"

"สอง ประเทศเหล่านั้นต้องตั้งกลไกสภาพคล่อง ในขณะที่หลายประเทศรวมถึงอิตาลีกำลังพยายามหาเครดิตเพื่อหลีกเลี่ยงการไม่สามารถชำระหนี้ได้" เขากล่าว "สาม ประเทศเหล่านั้นต้องพัฒนาสถาบันการเงินและเร่งยกระดับการบริหารจัดการงบประมาณ"

สำหรับเรื่องพันธบัตรยูโรโซนนั้น นายมันเดลล์เชื่อว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา เนื่องจากจะทำให้พันธบัตรคุณภาพต่ำจำนวนมากเข้าไปปนกับพันธบัตรคุณภาพดีอย่างพันธบัตรเยอรมนี และจะทำให้พันธบัตรดีอ่อนแอลง

"เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขด้วยความรับผิดชอบแล้ว ผมเชื่อว่ายูโรโซนสามารถออกพันธบัตรได้ และควรออกด้วย แต่ผมคิดว่าไม่ควรออกพันธบัตรเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศที่เป็นหนี้" เขากล่าว

ทั้งนี้ นายมันเดลล์เกิดเมื่อปีพ.ศ.2475 และเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2542 จากการวิเคราะห์นโยบายการเงินและการคลังภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน และการวิเคราะห์เขตเงินตราที่เหมาะสมที่สุด (optimum currency areas) นอกจากนั้นเขายังมีชื่อเสียงจากการวางรากฐานให้กับการตั้งสกุลเงินยูโรด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ