นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน เผยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันพรุ่งนี้(26 ส.ค.) ให้พิจารณาปรับลดการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน-ดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมเสนอปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ทั้งระบบในระยะยาว
"การประชุมนัดแรกของรัฐบาลชุดใหม่ มีวาระสำคัญคือการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลในการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากน้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 และดีเซล เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยจะเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนจะเริ่มดำเนินการลดการจัดเก็บฯ ได้ในวันที่ 1 กันยายนนี้หรือไม่คงต้องรอมติที่ประชุมวันพรุ่งนี้ก่อน" รมว.พลังงาน กล่าว
สำหรับการปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะเป็นน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 7.50 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ลดลง 6.70 บาทต่อลิตร และดีเซลลดลง 2.80 บาทต่อลิตรให้เป็นศูนย์
รมว.พลังงาน กล่าวว่า หากประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานก็จะเสนอให้มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามเดิม ส่วนสถานภาพของกองทุนน้ำมันฯ คาดว่าสามารถบริหารจัดการได้ 2-3 เดือน เพราะจะมีเงินไหลออกประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน หลังจากนั้นอาจต้องกู้เงินมาใช้ในระยะสั้น ซึ่งคาดว่าคงจะต้องกู้เงินในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ กพช.จะหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมถึงปรับโครงสร้างนโยบายพลังงานของประเทศใหม่ทั้งระบบ และมีการลอยตัวราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ให้มีส่วนต่างราคาสูงกว่าเบนซินและดีเซล เพราะจะทำให้ประชาชนหันไปใช้เบนซินและดีเซลมากขึ้น ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง
สำหรับการเจรจาใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา นายพิชัย ยืนยันว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอน และไม่อยากให้มองเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นโครงสร้างเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) และหากการเจรจาสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติใช้ได้อีก 40-50 ปีข้างหน้า
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะปล่อยให้ราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดการปรับตัวและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวให้สามารถรองรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ได้
"กรณีการลอยตัวราคาแอลพีจีในภาคอุตสากรรม รัฐบาลควรให้เวลาผู้ประกอบการกลุ่มเซรามิก แก้วและกระจก ได้ปรับตัวอย่างน้อย 3 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีการใช้แอลพีจีในกระบวนการผลิตร้อยละ 3 หรือประมาณ 1.5 แสนตันต่อปี จากปริมาณการใช้ในภาพรวม 5 ล้านตันต่อปี พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการใช้ไฟฟรี 90 หน่วย ที่ปัจจุบันมีการเรียกเก็บจากภาคเอกชน 12 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อนำไปชดเชยค่าไฟแให้ประชาชนแทน เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น" นายพยุงศักดิ์ กล่าว