นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการ รฟท.อนุมัติให้ผู้ว่าการ รฟท.ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้บริหารกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อแจ้งค่าเช่าที่ดินบริเวณตลาดนัดจตุจักรในอัตราปีละ 420-445 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่ลดลงจากผลศึกษาเดิมของ รฟท.
"บอร์ดฯ เห็นว่าเป็นการให้หน่วยงานราชการเช่า แต่หาก กทม.เสนอรายได้ต่ำกว่านี้ก็ให้ทางการรถไฟฯ บริหารเอง" นายสุพจน์ กล่าว
ผลการเจรจาจะสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากสัญญาเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 1 ม.ค.55 และผลการศึกษาของ รฟท.หากนำที่ดินดังกล่าวไปพัฒนาเชิงพาณิชย์จะมีรายได้สูงถึงปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าที่ดินดังกล่าวประเมินต่ำสุดคิดเป็นเงิน 5 พันล้านบาท และการต่อสัญญาครั้งนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีอายุสัญญาเท่าใดขึ้นอยู่กับข้อเสนอของ กทม. และแนวทางการดำเนินงานว่าจะคุ้มทุนเมื่อใด ก่อนหน้านี้ กทม.เสนอค่าเช่าในอัตราปีละ 140 ล้านบาท ขณะที่ รฟท.ต้องการปีละ 1,100 ล้านบาท
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า รฟท.เตรียมเสนอรัฐบาลให้อนุมัติดำเนิน 14 โครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการของรัฐบาล ขณะเดียวกันยังจะเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 55 เพิ่มเติม เพื่อนำไปศึกษาออกแบบโครงการใหม่ รวมทั้งสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟทางคู่เดิมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเป็นเงินประมาณ 43 ล้านบาท
สำหรับ 14 โครงการใหม่ ประกอบด้วย 1.โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 2.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 3.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก
4.โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 5.โครงการศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 6.โครงการศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 7.โครงการศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน
8.โครงการศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา 9.โครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย บริเวณระนอง-ชุมพร 10.โครงการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร สายระยอง-จันทบุรี-ตราด และขนาด 1.435 เมตร สายกรุงเทพฯ-ตราด
11.งานสำรวจออกแบบรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมเพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (จะนะ-หาดใหญ่-ปากบารา) 12.โครงการจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดและจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบัวใหญ่-มุกดาหาร-นครพนม 13.โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดการย้ายโรงงานมักกะสัน โรงรถจักรดีเซลบางซื่อ โรงรถจักรธนบุรี โรงซ่อมรถดีเซลรางและรถโดยสารกรุงเทพฯ โรงซ่อมรถสินค้าบางซื่อ และคลังพัสดุ และ 14.ศึกษานโยบายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อการขนส่งมวลชน และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการ ในส่วนที่เป็นภารกิจของ รฟท.