นางสาวรัญชนา พงศาปาน ผู้วิเคราะห์อาวุโสฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในวันแรกของการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนทั่วไป การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของ ธปท. ครั้งนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ออม จากการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ค่อยๆปรับลดวงเงินคุ้มครองจากเต็มจำนวนลงเหลือ 50 ล้านบาทต่อบัญชีของผู้ฝากที่สถาบันการเงินเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา และจะเหลือความคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาทตั้งแต่ ส.ค. ปีหน้า
ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยจะมีสถานะการเงินที่เข้มแข็ง แต่การลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าวก็กระตุ้นให้ผู้ฝากเงินบางส่วนมองหาทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ซึ่งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ก็ถือเป็นการเสนอทางเลือกในการลงทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเงินฝาก นอกจากนี้ยังช่วยให้นักลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีขึ้นด้วย
สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ที่ ธปท. จะออกจำหน่ายในครั้งนี้ มี 2 ประเภท คือ 1. พันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน และ 2. พันธบัตรออมทรัพย์อายุ 7 ปี ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทแรก จะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน โดยอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายจะเป็นอัตราดอกเบี้ย BIBOR (Bangkok Interbank OfferedRate) ระยะ 3 เดือน ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าจะยอมปล่อยกู้ ให้แก่กัน
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย BIBOR จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยระดับ wholesale (รายใหญ่) ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยระดับretail (รายย่อย) (ณ สิ้นเดือน ก.ค. 54 อัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 1.9)
ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้จากพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทแรกนี้ จึงน่าจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปกติ โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับในช่วง 3 เดือนแรก จะอยู่ที่ร้อยละ 3.58125 แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย BIBOR จะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาดเงินและแนวโน้ม เศรษฐกิจ จึงอาจมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง โดยน่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีทิศทางโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ต่ำลง
สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการความแน่นอนในผลตอบแทน อาจพิจารณาลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทที่สอง ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตามอัตราที่กำหนดไว้ซึ่งทยอยเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได โดย ธปท. ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ร้อยละ 3.5 ใน 4 ปีแรก ร้อยละ 4.5 ใน 2 ปีถัดมาและร้อยละ 5 ในปีสุดท้าย เฉลี่ยผลตอบแทนตลอดอายุที่ร้อยละ 4 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดี
หากเปรียบเทียบกับการลงทุนในทองคำแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนน่าดึงดูดใจมากที่สุด ดีกว่าการลงทุนในหุ้น การถือ B/E ของธนาคารพาณิชย์และการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ เนื่องจากราคาทองคำปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ จากที่นักลงทุนทั่วโลกหนีไปลงทุนในทองคำ เพราะเชื่อว่าจะสามารถป้องกันภาวะเงินเฟ้อในอนาคตได้และไม่เชื่อมั่นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ข้อเท็จจริง
ประการสำคัญประการหนึ่งคือ ราคาทองคำที่สูงขึ้นมีส่วนไม่มากก็น้อยจากการเก็งกำไรของนักลงทุนประเภทเก็งกำไรระยะสั้นด้วย หากวันดีคืนดีมีประเทศที่ถือทองคำสูงสุด เช่น สหรัฐฯ ขายทองคำออกมามาก และกองทุนเก็งกำไรขาดทุนมากๆก็จะกดดันให้ราคาทองคำลดลงอย่างฮวบฮาบได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับลดลงร้อยละ 5 ภายในวันเดียว
นอกจากนี้ บทเรียนจากวิกฤตการณ์หลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะวิกฤต subprime ในสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ก็สอนให้รู้ว่า อะไรที่ขึ้นได้ก็มีโอกาสลงได้ยิ่งขึ้นแรงก็ตกได้แรงจนฟกช้ำดำเขียว ดั่งเช่นราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ก่อนเกิดวิกฤตในปี 2551 ดังนั้นในแง่ความเสี่ยง ถือว่าพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. เป็นสินทรัพย์คนละประเภทกับทองคำ โดยมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าทองคำมาก
และเมื่อเทียบกับการฝากเงิน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอยู่ โดยเฉพาะในกรณีของพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ซึ่งคล้ายกับการฝากประจำในแง่ของอัตราดอกเบี้ยทมี่การกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือ แม้กระทั่งในกรณีของพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเอง ก็จะพอเปรียบเทียบได้กับการฝากประจำ 3 เดือนและเมื่อครบ 3 เดือนก็ฝากใหม่ (rollover) ไปเรื่อยๆ จนครบ 3 ปี และเมื่อถึงครบกำหนดไถ่ถอนก็จะได้เงินกลับมาเต็มจำนวน
อีกความคล้ายหนึ่ง คือการที่นักลงทุนสามารถนำพันธบัตรออมทรัพย์ธปท. มาใช้เป็นหลักประกันในการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินได้ (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) แต่ในความคล้ายก็มีความต่าง ในกรณีของเงินฝากประจำไม่ว่าจะเป็นแบบพิเศษที่กำลังมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ณ ขณะนี้ หรือแบบปกติ ระยะเวลาฝากเพื่อที่จะได้อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ โดยปกติจะไม่เกิน 2 ปี ซึ่งสั้นกว่าพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ชุดนี้ ที่มีอายุ 3 และ 7 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝาก ผู้ฝากเงินอาจเลือกที่จะฝากต่อไปในอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่อาจมากหรือน้อยกว่าเดิม หรือต้องมองหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อลงทุนใหม่อีกครั้ง (re-invest) ในขณะที่ผู้ลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ ก็สามารถทิ้งเงินไว้ให้ออกดอกออกผลเป็นระยะเวลานานกว่า และผลตอบแทนก็ดีพอที่จะไม่ต้องกังวลใจ หรือหากไปพบทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็สามารถขาย พันธบัตรนำเงินไปลงทุนที่อื่นได้
พันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของนักลงทุน ทั้งในแง่ผลตอบแทนที่ดี และความเสี่ยงที่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีลักษณะและความสะดวกใช้หลายๆ อย่างคล้ายคลึงกับเงินฝากที่เราๆท่านๆ คุ้นเคย
ธปท.จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งสองรุ่น 26 ส.ค.-6 ก.ย.ธ. กรุงเทพ ธ. กรุงไทย ธ. กรุงศรีอยุธยา ธ. กสิกรไทย ธ. ทหาร ไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธกส. ธ. ยูโอบี ธ. สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธ. ออมสิน และ ธ. ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น