นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมเตรียมหารือกับกระทรวงพลังงานในสัปดาห์นี้เพื่อพิจารณาการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีน้ำมันทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายลดค่าพลังงานของรัฐบาล และเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้แก๊สโซฮอลล์
กรมฯ จะเสนอขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 0.005 บาท/ลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 ก.ย.54 โดยจะขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน และจะมีการขยายเวลาเดือนต่อเดือน โดยพิจารณาจากสถานการณ์น้ำมัน และผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรม ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้รายได้ภาษีลดลง 9 พันล้านบาท/เดือน และหากมีการขยายเวลาโดยไม่มีกำหนดชัดเจน ทั้งปีงบประมาณ 55 จะกระทบการจัดเก็บรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท
"หากยังไม่เหมาะสมก็จะยืดต่อไปทุกเดือนจนกว่าราคาน้ำมันจะไม่เป็นภาระกับประชาชน ซึ่งการลดภาษีดังกล่าว จะพิจารณาเดือนต่อเดือน ยังไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน คาดว่าหากใช้ทั้งปีงบประมาณ 55 จะทำให้รายได้หายไป 1 แสนล้านบาท" นายพงษ์ภาณุ กล่าว
นอกจากนี้กรมฯ ได้จะเสนอแนวทางการปรับลดภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่ปัจจุบันเก็บที่ 6.30 บาท/ลิตร โดยจะเสนอลดภาษีลง 1.50 บาท/ลิตร พร้อมกับการเสนอปรับเพิ่มภาษีน้ำมันเบนซินเต็มเพดานที่ 10 บาท/ลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บที่ 7 บาท/ลิตร เพื่อให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสองชนิดดังกล่าวอยู่ที่ 20-30% เป็นการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ ที่เป็นพลังงานทางเลือกต่อไป
ในการหารือกับกระทรวงพลังงานจะชี้แจงถึงปัจจัยผลกระทบที่ต้องพิจารณา 4 ด้าน คือ 1.กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 2.หากใช้น้ำมันมาก ไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเพิมขึ้น ซึ่งมีผลต่อดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการชำระเงินของประเทศ 3.มีปัญหาต่องบประมาณในการซ่อมแซมถนน ซึ่งอาจต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการซ่อมแซ่ม และ 4.ผลต่อสิ่งแวดล้อม
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการน้ำมันที่หากมีการบิดเบือนกลไกและพฤติกรรมการใช้น้ำมัน เห็นได้จากการลดภาษีน้ำมันดีเซลช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 3-4% ขณะที่การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุน ทำให้มีคนไปใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 มากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้มีการติดตามดูสถานการณ์และมีการใช้น้ำมันที่บิดเบือนมากน้อยแค่ไหน จึงได้มอบหมายให้ตนเองในฐานะอธิบดีกรมสรรพสามิตเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เพื่อติดตามสถานการณ์การใช้นำมันและการปรับโครงสร้างภาษี คาดว่าใช้เวลาติดตามสถานการณ์ 2-3 เดือน
อย่างไรก็ตาม จากการปรับลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ส่วนต่างราคาของเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ไม่ห่างกันมาก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล ซึ่งกรมเป็นผู้ออกใบอนุญาตผลิตเอทานอลในประเทศซึ่งแนวโน้มจะมีการผลิตส่วนเกินมากขึ้นหากคนหันมาใช้เบนซินมากขึ้นและต้องหันไปส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยจะมีปัญหาในการทำระบบ pool ของการผลิตส่วนเกิน ซึ่งในวันนี้ (29 ส.ค.54) จะมีการประชุมเพื่อแก้ไขระเบียบกรมสรรพสามิตเกี่ยวกับการส่งออกเอทานอลให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น