Analysis: "เบอร์นันเก้" ส่งสัญญาณเฟดจ่อใช้ QE3 ในการประชุมเดือนหน้า

ข่าวต่างประเทศ Monday August 29, 2011 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ประกาศว่าจะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม (QE3) ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมธนาคารกลางโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ถ้อยแถลงของเบอร์นันเก้ก็ส่งสัญญาณต่อตลาดว่า เฟดอาจจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในอนาคต

แถลงการณ์ครั้งล่าสุดของเบอร์นันเก้มีขึ้นในวันเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศทบทวนการประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของสหรัฐลงมาอยู่ที่ระดับ 1% จากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.3% เนื่องจากการชะลอตัวของสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ การส่งออก และการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้นักลงทุนจำนวนมากคาดการณ์ว่า สหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น กำลังขาดแคลนเครื่องมือด้านการคลัง จึงทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าในการกล่าวสุนทรพจน์ของเบอร์นันเก้ที่เมืองแจ็คสันโฮล รัฐไวโอมิงนั้น เบอร์นันเก้อาจจะส่งสัญญาณการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ เพราะในการประชุมเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว เบอร์นันเก้เคยส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการ QE2 ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะฉุดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำทั้งในระยะยาวและระยะกลาง และกระตุ้นการกู้ยืมในภาคเอกชนและครัวเรือน

ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งล่าสุดนี้ เบอร์นันเก้ระบุว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทาย 2 เรื่องใหญ่ๆด้วยกัน เรื่องแรกคือการหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นอีกหลังจากที่เผชิญกับวิกฤตและเศรษฐกิจถดถอย และความท้าทายเรื่องที่สองคือการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีศักยภาพในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า มาตรการ QE ไม่ใช่ทางออกในการรับมือกับความท้าทายทั้ง 2 เรื่อง แต่นโยบายในระยะใกล้ที่จะช่วยขจัดความไม่แน่นอนและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการคลัง ถือเป็นนโยบายที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหัฐ

มาตรการ QE2 ไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจและตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐให้ฟื้นตัวขึ้นได้ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีเงินสดสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เพียงพอในการสร้างโอกาสการลงทุน เนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากกำลังออมเงินมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง

ในการประกาศใช้มาตรการ QE2 นั้น เฟดได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2551 ซึ่งทำให้เฟดถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งภายในและต่างประเทศ และแม้ว่าการประกาศใช้มาตรการ QE ช่วยหนุนตลาดหุ้นทะยานขึ้นติดต่อกันนานนับเดือน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เฟดต้องระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาใช้มาตรการ QE ในครั้งต่อไป

อัลแลน เมลท์เซอร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิสาหกิจแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ผลกระทบหลักๆของมาตรการ QE คือจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง และจะทำให้ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และราคานำเข้าของสินเค้าประเภทอื่นๆ ปรับตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนไหวใกล้กับระดับเป้าหมายของเฟด และการขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบพุ่งขึ้นถึง 10% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อในวันข้างหน้า

ขณะที่เจมส์ ดอร์น นักวิเคราะห์ด้านนโยบายการเงินจากสถาบันคาโต ในนครวอชิงตัน กล่าวว่า การพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบไม่ใช่ยาวิเศษที่ใช้เยียวยาเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้ โดยดอร์กล่าวว่า หลังจากที่เฟดประกาศใช้มาตรการ QE มาแล้ว 2 ครั้ง อัตราว่างงานก็ยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 9% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ทั่วไป ยืนอยู่ที่ 3.6% โดยระบุว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเทคนิคแล้วพบว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะ stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่มีเงินเฟ้อสูงขึ้น

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคน ซึ่งรวมถึงดอร์น คาดว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับต่ำเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเกิดจากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ไม่ใช่เกิดจากการไม่ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

เบอร์นันเก้ส่งสัญญาณว่า เฟดจะรอจนกว่าจะถึงการประชุมในเดือนหน้า ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฟดได้ขยายระเวลาเวลาการประชุมในเดือนก.ย.ออกไปเป็น 2 วัน จากเดิมซึ่งกำหนดไว้เพียง 1 วัน เพื่อที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะมีเวลาหารือกันมากขึ้นเกี่ยวกับความคืบหน้าทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกลาวถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะประกาศใช้มาตรการ QE3 ในการประชุมเดือนหน้านี้

เบอร์นันเก้ระบุว่า เฟดจะยังคงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจากข้อมูลที่ได้รับ และพร้อมที่จะใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของราคาผู้บริโภค

นอกจากนี้ เบอร์นันเก้ย้ำว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงอัตราการนำทรัพยากรมาใช้ในระดับต่ำนั้น อาจจะทำให้เฟดต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2556

แต่ผู้เชี่ยวชาญมาองว่า การที่เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์มานับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 นั้น ทำให้สหรัฐเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก แต่ไม่ได้ช่วยหนุนตลาดที่อยู่อาศัยและการจ้างงานในภาคธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น

บทวิเคราะห์โดย เจียง ซูเฟิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ