ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งรับตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐสดใส

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 30, 2011 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 ส.ค.) เพราะได้แรงหนุนจากรายงานตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนก.ค. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนผ่อนคลายจากกระแสความวิตกกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 76.960 เยน จากระดับของวันศุกร์ที่ 76.600 เยน และพุ่งขึ้น 1.51% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8182 ฟรังค์ จากระดับ 0.8060 ฟรังค์

ค่าเงินยูโรดีดตัวขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.4508 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4497 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.13%เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.6391 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6370 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0615 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0568 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้น 0.66% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8444 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8389 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและสกุลเงินอื่นๆ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 เดือน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. มากกว่าเดือนมิ.ย.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.2%

อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนตัวผันผวนเมื่อสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ระบุว่า ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ร่วงลง 1.3% สู่ระดับ 89.7 จุด จากเดือนมิ.ย.ที่ระดับ 90.9%

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในที่ประชุมธนาคารกลางโลกที่เมืองแจ็คสันโฮล รัฐไวโอมิง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เฟดอาจจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมเฟดเดือนหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่าเฟดอาจจะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม (QE3) ในการมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในการประชุมเฟดเดือนหน้า

อัลแลน เมลท์เซอร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิสาหกิจแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผลกระทบหลักๆของมาตรการ QE คือจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง ขณะที่เจมส์ ดอร์น นักวิเคราะห์ด้านนโยบายการเงินจากสถาบันคาโต ในนครวอชิงตัน กล่าวว่า การใช้มาตรการ QE หรืออีกนัยหนึ่งคือการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบนั้น ไม่ใช่ทางออกในการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ หลังจากที่เฟดประกาศใช้มาตรการ QE มาแล้ว 2 ครั้ง แต่อัตราว่างงานก็ยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 9% และอัตราเงินเฟ้อยืนอยู่ที่ 3.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะ stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่มีเงินเฟ้อสูงขึ้น

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนจากแถลงการณ์ของนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ระบุว่า เงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงอยู่เหนือเป้าหมายของอีซีบี ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าอีซีบีอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังได้แรงหนุนจากข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง ยูโรแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของกรีซ และอัลฟา ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของกรีซ

ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายโยชิฮิโกะ โนดะ รมว.คลังญี่ปุ่น ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (ดีพีเจ) และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงราคาบ้านเดือนมิ.ย.,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนส.ค.ของสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 75,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งถึง 117,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนส.ค.จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 9.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ