นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ อัตรา และขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 กรณีพิเศษ ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2554 เริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนด้านพืชกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านประมงกับกรมประมง ด้านปศุสัตว์กับกรมปศุสัตว์ สำหรับอัตราการให้ความช่วยเหลือกรณีพิเศษแต่ละด้านในกรอบวงเงินการช่วยเหลือรวม 8,174.5458 ล้านบาท แยกได้ดังนี้
ด้านพืช (คิดเป็นเงิน 7,741.8994 ล้านบาท) ข้าว ที่ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิมอัตราไร่ละ 606 บาท เป็นอัตราไร่ละ 2,222 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 3,150 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตราไร่ละ 5,098 บาท กรณีเสียหายสิ้นเชิงช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตรวมเฉลี่ยต่อไร่ ปี 2554 และช่วยเหลือตามพื้นที่ที่เสียหายจริงร้อยละ 100 กรณีพืชสวนและอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต แต่ไม่ตาย และยังอยู่ในสภาพฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้ให้ช่วยเหลืออัตราไร่ละ 2,549 บาท กรณีพื้นที่การเกษตรถูกดินทับถม ได้รับความเสียหายให้ช่วยเหลืออัตราไร่ละ 7,000 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่
ด้านประมง (คิดเป็นเงิน 331.4864 ล้านบาท) ปลาทุกชนิด อัตราไร่ละ 4,225 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้ง ปู หอย อัตราไร่ละ 10,920 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กระชัง บ่อซีเมนต์ อื่นๆ อัตราตารางเมตรละ 315 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ การช่วยเหลือตามอัตราและเกณฑ์ข้างต้น ในกรณีพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายที่เกินจากเกณฑ์การช่วยเหลือ ให้ได้รับความช่วยเหลืออีกครึ่งหนึ่งของพื้นที่ส่วนที่เกินนั้น
ด้านปศุสัตว์ (คิดเป็นเงิน 101.1600 ล้านบาท) ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 ในกรณีได้รับความเสียหายที่เกินจากการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยฯ ให้ได้รับความช่วยเหลืออีกครึ่งหนึ่งของความเสียหายส่วนที่เกินนั้น
และเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ถูกต้อง จึงเห็นควรให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (กชภอ.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายด้านการเกษตรระดับหมู่บ้าน ที่มีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ตามแบบยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (แบบ กษ 01) รวมทั้งจัดทำเวทีประชาคม เพื่อตรวจสอบข้อมูลความเสียหายนั้น และรายงานให้ กชภอ. พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรผู้ได้รับความเสียหาย และประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือ แจ้งขอรับการช่วยเหลือตามแบบยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (แบบ กษ 01) ภายในระยะเวลาการยื่นแบบตามที่จังหวัดได้ประกาศไว้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป