ธ.ก.ส.พักชำระหนี้เกษตรกรน้ำท่วม 3 ปี แนะทำประกันภัยลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2011 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า จากการที่เกิดฝนตกหนักเนื่องจากความกดอากาศต่ำกำลังแรงจากประเทศลาวเคลื่อนตัวมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในเขตภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางของไทยจำนวนกว่า 32 จังหวัด ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น พบว่า มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 150,000 ครอบครัว มีลูกค้าเสียชีวิต 1 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวน 2,077,775 ไร่ ประกอบด้วย ข้าว 1,935,491 ไร่ พืชไร่ 99,182 ไร่ พืชผัก 2,983 ไร่ พืชอื่นๆ 21,465 ไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้น 17,501 ไร่ ประมง 1,153 ไร่ สัตว์ปีกและปศุสัตว์อีกประมาณ 2,764 ตัว

ทั้งนี้ ด้านการให้ความช่วยเหลือ ธ.ก.ส.ได้จัดถุงยังชีพออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น จำนวน 30,765 ครอบครัว เป็นเงิน 11.12 ล้านบาท โดยหลังน้ำลด ธ.ก.ส.จะประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพด้วยการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน สมทบเงินสร้างบ้านกรณีเสียหายทั้งหลังจำนวน 20,000 บาท รวมทั้งช่วยจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชให้เกษตรกรซื้อในราคาที่ย่อมเยา

ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินที่เกษตรกรลูกค้ามีอยู่กับ ธ.ก.ส.นั้น คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม โดยกรณีที่เสียชีวิตจากอุทกภัย ธ.ก.ส.จะปลดหนี้ให้พร้อมรับคู่สมรสหรือทายาทขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าแทนผู้เสียชีวิต และมอบเงินบำรุงขวัญให้กับคู่สมรสหรือทายาทครอบครัวละ 10,000 บาท โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง กรณีประสบภัยร้ายแรงหรือเสียหายจนเป็นเหตุให้รายได้ลดลงเกินกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ปกติ จะพักชำระหนี้ 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554 — 2556 พร้อมงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงที่พักชำระหนี้ และให้เงินกู้ใหม่เพื่อนำไปฟื้นฟูการผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้ปกติร้อยละ 3 ต่อปี โดย ธ.ก.ส.จะประสานงานกับกระทรวงการคลังนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการจ่ายดอกเบี้ยแทนเกษตรกรต่อไป

ทั้งนี้ หากพักชำระหนี้แล้วยังเป็นภาระหนักจะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลดหย่อนหลักประกันเงินกู้ กรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน จากกู้ได้ไม่เกินครั้งหนึ่งเป็นกู้ได้ไม่เกินวงเงินจำนองและกรณีใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขยายการค้ำประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท

นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาภัยธรรมชาตินับวันจะทวีความรุนแรงและถือเป็นความเสี่ยงที่พี่น้องเกษตรกรไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น แนวทางป้องกันปัญหาหรือลดความเสี่ยงที่ดีอีกด้านหนึ่งก็คือ การจัดทำประกันภัยพืชผล เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2554 ที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน และกำลังจะสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ในอัตราเบี้ยประกัน 129.47 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร 69.47 บาทต่อไร่ ดังนั้น เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยจำนวน 60 บาทต่อไร่ กรณีเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จะได้รับการจ่ายสมทบจาก ธ.ก.ส. อีกไร่ละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรลูกค้าจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 50 บาทต่อไร่ รวมทั้ง ยังได้รับสิทธิในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 6 เดือน

กรมธรรม์ดังกล่าวจะให้ความความคุ้มครองกรณีเกิดอุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย แต่ไม่รวมถึงโรคระบาดและแมลงศัตรูพืช ซึ่งการชดเชยค่าเสียหายแบ่งความคุ้มครองเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 60 วันแรกตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจะได้รับสินไหมทดแทนอัตราไร่ละ 606 บาท ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 61 เป็นต้นไป จะได้รับสินไหมทดแทนในอัตราไร่ละ 1,400 บาท ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนเงื่อนไขอขงกรมธรรม์มีทั้งสิ้นจำนวน 31,024 ราย จำนวนพื้นที่ 617,640 ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ