นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) คาดว่า กระทรวงฯ จะสามารถจัดทำแผนแม่บทบรอดแบนด์แห่งชาติ แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพ.ย.นี้ และจะได้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ สำหรับใช้เป็นกรอบการลงทุนและดำเนินการโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติต่อไป
และคาดว่าโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ถือเป็นโครงการสำคัญลำดับต้นๆ ที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ความสนใจและเร่งผลักดันให้เริ่มดำเนินการภายในปีงบประมาณ 55
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานแก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ช่วยลดค่าบริการ รวมทั้งลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐสำหรับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ซึ่งโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาตินี้ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางจีราวรรณ กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า กระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทบรอดแบนด์แห่งชาติ ทั้งด้าน Supply Side ซึ่งเป็นแผนการลงทุนกระจายโครงข่ายสื่อสารผ่านบรอดแบนด์ไปทั่วประเทศตามเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าถึงประชาชนร้อยละ 80 ภายในปี 58 และแผนแม่บทด้าน Demand Side ซึ่งเป็นแผนการใช้งานโครงข่ายบรอดแบนด์โดยภาครัฐเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในภาครัฐเอง
โดยแผนแม่บทด้าน Supply Side นั้นจะประกอบด้วยแผนการลงทุนจัดหาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้เข้าถึงประชาชนตามเป้าหมายโครงการ และแผนการจัดตั้งหน่วยงานบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่จัดหา และบริหารโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้ประกอบการภาคเอกชน และ กสทช. ในการรวบรวมข้อมูล และความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนแม่บทที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
ซึ่งกระทรวงฯ ได้กำหนดให้มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็น ในวันที่ 9 ก.ย.54 นี้ โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญ ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมอภิปรายรูปแบบโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติในต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับประเทศไทย เพื่อนำผล ที่ได้จากการสัมมนามาประกอบการทำแผนแม่บทฯ ต่อไป
ส่วนแผนแม่บทด้าน Demand Side จะประกอบด้วยแผนการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านต่างๆ แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นบริการหลักๆ ที่ให้กับประชาชนโดยรวมของประเทศ ใน 4 ด้าน ได้แก่ e-Education, e-Agriculture, e-Government และ e-Health ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนแม่บทฯ ให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
โดยกระทรวงฯ จะมีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นสำหรับการจัดทำแผนแม่บทด้าน Demand Side นี้ในวันที่ 5 ก.ย.54 และนำผลที่ได้จากการสัมมนามาประกอบการทำแผนแม่บทฯ ด้วยเช่นเดียวกัน