(เพิ่มเติม) รมว.คลัง แนะเคาะกรอบเงินเฟ้อปี 55แคบลง,จี้แยกทุนสำรองฯตั้งกองทุนมั่งคั่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2011 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวภายหลังหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า ได้เสนอให้กำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 55 แคบลง เพื่อสร้างความท้าทายการทำงานของธปท. พร้อมทั้งเสนอแยกทุนสำรองฯบางส่วนตั้งกองทุนความมั่งคั่งที่จะสร้างโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้น โดยมีการร่างกฎหมายมารองรับโดยเฉพาะ อีกทั้งให้ทาง ธปท.หาแนวทางลดภาระหนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯ

นอกจากนี้ได้เสนอแนะให้โยกงานในส่วนกำกับดูแลการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(บี/อี)ของธนาคารพาณิชย์ ไปให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เป็นผู้ดูแลแทน เนื่องจากปัจจุบัน ก.ล.ต.กำกับดูแลตั๋วบี/อี และตราสารทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว

รมว.คลัง กล่าวว่า การหารือวันนี้ได้ตั้งโจทย์ใหญ่ 4 เรื่องเพื่อให้ผู้ว่าการ ธปท.คิดหาคำตอบก่อนเข้ามารายงานให้ทราบภายในเดือนหน้า ประกอบด้วย 1. ปัญหาภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมีข้อตกลงว่า ธปท.จะชำระเงินต้น และกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมาคลังมีการชำระดอกเบี้ยแล้ว 6.7 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ธปท.ลดภาระเงินต้นได้เพียง 1.6 แสนล้านบาท และยังมีภาระหนี้เงินต้นเหลือ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลัง จึงขอให้ ธปท.หาแนวทางช่วยแบ่งเบาภาระนี้

2.ปัจจุบันพบว่ามีระบบธนาคารพาณิชย์ออกตั๋วบี/อี จำนวนมาก มีอัตราการเติบโตสูงและมีจำนวนที่ออกขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีความกังวลในแง่การกำกับดูแลที่ต้องมีความมั่นใจว่าไม่เป็นภาระของสถาบันการเงินและเป็นภาระของกระทรวงการคลังเหมือนอดีต จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ธปท. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมตราสารหนี้ เพื่อวางแนวทางกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าน่าจะโอนเรื่องนี้มอบให้ ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแล

"ผมต้องคอยติดตามตัวเลขพวกนี้ เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ได้คิดรายได้ในการออกตั๋วบีบี และในแง่การดูแลภาระการคลังจึงต้องติดตามเรื่องนี้" นายธีระชัย กล่าว

3.เงินสำรองระหว่างประเทศที่ผ่านมามีการบริหารที่สร้างผลตอบแทนได้น้อย จึงเห็นว่าควรมีกระบวนการบริหารให้เกิดความเหมาะสม ทั้งในแง่ความปลอดภัย ผลตอบแทน และความถูกต้องทางวิชาการ โดยมีแนวคิดให้นำเงินสำรองฯ บางส่วนแยกเป็นบัญชีย่อยทั้งในข้างทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งจะต้องออกกฎหมายเฉพาะขึ้นมารองรับ อาจตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติให้เป็นบัญชีของภาครัฐแยกออกมาจากบัญชีที่ ธปท.มีอยู่ โดยจะมีการประสานการทำงานระหว่างคลังและ ธปท.มีกระบวนการใช้เงินผ่านการตกลงทางการเมือง มีการบริหารจัดการเพื่อสร้างผลตอบแทน เช่น การนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอาเซียน+3 อาจเป็นการลงทุนในฐานะผู้ให้กู้ หรือลงทุนโดยตรง

"กองทุนที่นำเงินสำรองระหว่างประเทศมาจัดต้งอาจแยกเป็น 2 กองทุน กองหนึ่งให้ ธปท.ใช้ดูแลตลาดเงิน ซึ่งต้องมีสภาพคล่องสูง มีเพียงพอ และมีความปลอดภัยสูง ส่วนอีกกองตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่ง ส่วนจะเป็นเท่าไร ทำได้เร็วแค่ไหน มีองค์ประกอบอย่างไร ลงทุนทรัพย์สินแบบไหน ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะต้อง ต้องมาคุยในรายละเอียด"นายธีระชัย กล่าว

4.กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 55 ซึ่งจะต้องดำเนินการกำหนดร่วมกันให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.54 ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเดิมที่ 0.5-3% มีช่วงห่างเกินไป ไม่ท้าทายการทำงานของ ธปท. ดังนั้น อาจจำเป็นที่ต้องมีการปรับเพิ่มกรอบล่าง และขยับเพิ่มกรอบบน ซึ่งในต่างประเทศอาจกำหนดเป็นตัวเลขตัวเดียว แต่ให้มีบวก/ลบได้ ซึ่งจะทำให้มองภาพรวมได้ชัดเจน โดยที่ธปท.ไม่ต้องกังวลในเรื่องเงินเฟ้อที่ลงต่ำเกินไป

นายธีระชัย ยังกล่าวว่า มอบหมายให้ สศค. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) และธปท. พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจให้ครบถ้วน ทั้งผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและภายใน และนโยบายการคลังในการดำเนินตามนโยบายรัฐบาล และหาข้อแตกต่างในมุมมองของแต่ละฝ่ายเพื่อนำไปสู่การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ