นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการกำหนดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นช่วงนั้นถือว่ามีความยืดหยุ่นและเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาสามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อได้ดีตามวัตถุประสงค์
ส่วนข้อเสนอนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง ที่แนะนำให้กำหนดเป็นค่ากลางแทนนั้น ขณะนี้คงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ระดับเจ้าหน้าที่ต้องไปศึกษาก่อน แต่ทั้งนี้พบว่ามีบางประเทศเช่นกันที่มีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นค่ากลาง
ส่วนแนวทางที่จะขยายกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อจาก 0.5-3.0% นั้น มองว่าคงไม่ได้ช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ แต่อาจจะกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด เพราะเหมือนเป็นการยืนยันคาดการณ์เงินเฟ้อจะสูงขึ้น และจะนำไปสู่การทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
"การขยายขอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ความหมายเหมือนบอกสาธารณชนให้รู้ว่าจะปล่อยให้เงินเฟ้อสูง ซึ่งดอกเบี้ยก็จะสูงตาม และคนที่จะตัดสินใจซื้อพันธบัตรก็ต้องรอ เพราะดอกเบี้ยจะสูงขึ้น คงไม่ซื้อพันธบัตรที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ"ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ
นายประสาร ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับลดลงนั้น มองว่าในระยะสั้นอาจทำให้เงินเฟ้อลดลงได้บ้าง แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะนำมาใช้นานแค่ไหน และการงดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาวจะมีผลกระทบอย่างไร
ทั้งนี้ แม้การลดราคาน้ำมันจะช่วยลดต้นทุนทั้งด้านการเดินทางและการขนส่ง แต่คงต้องในมอง 2 ด้าน คือการกระตุ้นดีมานด์ว่าจะมีโมเมนตัมในด้านการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันทำให้เกิดการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายดังกล่าวนานแค่ไหน และต้องดูว่าในระยะ 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้าราคาสินค้าจะปรับลดลงตามหรือไม่