ผู้ประกอบการกลุ่มพลังงานและนักวิชาการให้การสนับสนุนแนวนโยบายลอยตัวราคาพลังงานของรัฐบาลในงานเสวนานโยบายเศรษฐกิจพลังงานประจำปี เรื่อง "ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร จากการลอยตัวราคาพลังงาน"
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น และก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเร่งศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพราะไม่เช่นนั้นคนไทยจะต้องแบกรับภาระการอุดหนุนให้กับประชาชนกลุ่มอาเซียนกว่า 600 ล้านคน หลังจากข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) มีผลบังคับใช้ในปี 2558 โดยรูปแบบคงจะต้องทยอยปรับขึ้นราคา
ปัจจุบัน ปตท.แบกรับราคาเอ็นจีวีปีละ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบกรับภาระการนำเข้าแอลพีจีกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังต้องแบกรับภาระอุดหนุนพลังงานสีเขียว หรือพลังงานทดแทน ซึ่งในการเตรียมพร้อมการลอยตัว ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบถึงต้นทุนของพลังงานสีเขียว หรือกรีนไพรสซิ่ง ที่มีราคาสูงกว่าพลังงานฟอสซิล และหากคนไทยจะสนับสนุนกรีนไพรสซิ่งก็ต้องยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้นดีกว่าการที่ภาครัฐจะต้องอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนต่อไป
ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร PTT กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีนโยบายให้ ปตท.ไปศึกษาเรื่องการจัดทำบัตรเครดิตพลังงาน โดยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและรายละเอียด โดยอาจทำเป็นรูปแบบบัตรเครดิต บัตรเดบิท หรือบัตรส่วนลด หรืออาจจะมีการผสมรูปแบบกัน โดย ปตท.จะเสนอผลการศึกษาที่ระบุถึงผลดีและผลเสียของนโยบายดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเรื่องที่มีความกังวล คือ วินัยทางการเงินของกลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ปตท.จะจัดทำแผนเสนอไปยังกระทรวงพลังงานในการพิจารณา เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้เสียในระบบ
เบื้องต้นจะมีการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยในภาคขนส่งก่อน เช่น ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้สาธารณะ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งในกลุ่มของมอเตอร์ไซด์รับจ้างจะเป็นกลุ่มที่มีการเก็บข้อมูลได้ยากเนื่องจากมีจำนวนมากและยังไม่มีการขึ้นทะเบียนไว้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้ ปตท.จะต้องดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินและรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด และอนุมัติการช่วยเหลือในกลุ่มใดบ้าง
ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ยอมรับว่า การลอยตัวราคาพลังงานในระยะสั้น ประชาชนอาจจะต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์เมื่อราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะจะมีการปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด และทำให้โครงสร้างราคาถูกบิดเบือนน้อยลง รวมถึงเกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับผู้ใช้พลังงาน เพราะปัจจุบันมีประชาชนบางกลุ่มยังต้องแบกรับภาระค่าพลังงานแทนคนอีกกลุ่มหนึ่ง ช่วยลดการแทรกแซงราคาพลังงานของภาครัฐ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอาจจะต้องดูแลการแข่งขันให้เป็นไปตามกลไก เพื่อป้องกันการผูกขาด และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ตนเองยังเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะการลอยตัวราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าสูงถึง 1.6 ล้านตัน ต้องใช้เงินอุดหนุนถึง 2.2 หมื่นล้านบาท หากไม่ลอยตัวราคาพลังงานในวันนี้ เมื่อมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ประเทศเพื่อนบ้านก็จะสามารถใช้พลังงานราคาถูกจากไทยได้ ระยะเร่งด่วนรัฐบาลจึงควรลอยตัวราคาแอลพีจีก่อน แล้วลดการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่ 2 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นจึงปรับราคาเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นตามต้นทุน
วิธีการลอยตัวราคาแอลพีจี รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การปรับขึ้นราคาแอลพีจีพร้อมกันทุกภาคส่วน โดยคำนวณจากราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 60 และราคานำเข้าร้อยละ 40 ซึ่งวิธีนี้ ราคาแอลพีจีจะปรับขึ้น 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยการแจกบัตรเครดิตพลังงาน หรือคูปองส่วนลด
ส่วนอีกรูปแบบ คือตรึงราคาภาคครัวเรือน และปรับขึ้นในภาคขนส่งเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม คือ ไตรมาสละ 3 บาท 4 ไตรมาส รวมเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาจะสูงกว่ารูปแบบแรก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลลอยตัวราคาแอลพีจี จะทำให้ภาระกองทุนน้ำมันฯ ลดลงร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 1-2 พันล้านบาท