(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 4.29%, Core CPI เพิ่มขึ้น 2.85%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2011 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ส.ค.54 อยู่ที่ 113.23 เพิ่มขึ้น 4.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.43% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.54 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 8 เดือนของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.54) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.72%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือนส.ค.54 อยู่ที่ 106.64 เพิ่มขึ้น 2.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.27% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 8 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.12%

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ส.ค.54 อยู่ที่ 135.07 เพิ่มขึ้น 1.66% จากเดือน ก.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.43% ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 100.56 ลดลง 0.36% จากเดือน ก.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.77%

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า CPI ในเดือนส.ค. 54 สูงขึ้น 0.43% จากเดือนก.ค. 54 สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ นม อาหารสำเร็จรูป ยาและเวชภัณฑ์

แต่หากเทียบอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.54 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สูงขึ้น 4.29% เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 8.43% เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไข่ นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอ และอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่อดื่มที่สูงขึ้น 1.77% จากการสูงขึ้นของหมวดการขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การตรวจรักษา

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค.ในระดับปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีเสถียรภาพ ตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ยังคาดว่าทั้งปีนี้จะรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไว้ได้ตามเป้าที่ 3.2-3.7% โดยมีปัจจัยเรื่องมาตรการของภาครัฐในการปรับลดราคาน้ำมันที่มีผลต่อค่าครองชีพและการผลิตสินค้าเป็นตัวสนับสนุนให้เงินเฟ้อไม่สูงไปกว่ากรอบที่ตั้งไว้

ขณะที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย.54 จะอยู่ที่ระดับ 3.8-3.9% และอัตราเฉลี่ยในไตรมาส 4/54 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักร โดยคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง คือ 1. ปริมาณผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 2. กรณีที่รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง

"ช่วงปลายปีอัตราเงินเฟ้อคงจะลดลงมาจาก 2 ปัจจัยนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งในด้านขนส่งและราคาพลังงานที่ปรับลดลง" ปลัดพาณิชย์ กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวถึงกรณีความกังวลต่อนโยบายรัฐ เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 15,000 บาท/เดือนที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อว่า ยืนยันว่า แนวนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลไม่ได้มีผลต่อการปรับขึ้นเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงในระดับล่าง ซึ่งไม่ได้มีผลให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากนัก โดยมีข้อมูลว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 1% จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อในรอบปีสูงขึ้นเพียง 0.08%

"ในทางทฤษฎี การเพิ่มค่าแรงของระดับล่าง ไม่ได้ส่งผลต่อเงินเฟ้อ เพราะไม่ได้ทำให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก แค่ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น"ปลัดฯ กล่าว

ผลจากการปรับลดราคาน้ำมัน มองว่า สินค้าที่มีโอกาสจะปรับลดราคาลงในอัตราที่สูง ได้แก่ เหล็ก คาดว่า จะปรับลดลงตันละ 30 บาท, กระดาษ สิ่งพิมพ์ค ดว่าจะปรับลดตันละ 9.55 บาท

ส่วนกรณีมีสำนักข่าวต่างประเทศแสดงความกังวลว่านโยบายยกระดับราคาข้าวของรัฐบาลจะส่งผลให้ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น และมีผลให้อัตราเงินเฟ้อของโลกปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยนั้น ปลัดพาณิชย์ ยืนยันว่า จากนโยบายจำนำข้าวคาดว่าจะช่วยทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นนั้นจะไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก โดยคาดว่าจะทำให้ราคาข้าวส่งออกสูงขึ้นเพียงก.ก.ละ 9-10 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ