(เพิ่มเติม) ธปท.เล็งนำกรอบเงินเฟ้อปี 55 เข้ากนง.ต้น ต.ค.,มอง 0.5-3%ยังเหมาะถึงสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2011 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังได้มอบหมายให้ ธปท.พิจารณาเกี่ยวกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 55 ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในต้นเดือน ต.ค.ก่อนจะได้นำผลเข้าหารือกับกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะกำหนดให้ กนง.ได้พิจารณาก่อนจะมีการหารือกับกระทรวงการคลังในไตรมาส 4 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปัจจุบัน 0.5-3.0% ถือว่ามีความเหมาะสมในขณะนี้ และน่าจะสามารถใช้ดูแลเงินเฟ้อได้จนถึงสิ้นปี โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI)อยู่ที่ 2.59% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบ

นายประสาร กล่าวว่า ตลาดเงินมีความคุ้นเคยกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดว่าต้องดูแลไม่ให้เกิน 3% เพื่อวางแผนการลงทุน เช่น การซื้อพันธบัตร ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงกรอบบ่อยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ ขณะที่มองว่าจนถึงสิ้นปีนี้ CORE CPI คงไม่หลุดกรอบที่กำหนดไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้เริ่มทรงตัว ดังนั้น คาดว่าจนถึงสิ้นปีเงินเฟ้อไม่น่าจะหลุดกรอบ

สำหรับหนี้สินของทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น ถือเป็นหนี้ทางการคลัง ไม่ใช่ภาระหนี้ ธปท. แต่เป็นหนี้ที่เกิดหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ทางการเข้าแก้ปัญหาสถาบันการเงิน และกำหนดให้นำกำไรของ ธปท.มาชำระหนี้เงินต้น โดยไม่ต้องนำเงินส่งเข้าคลัง

การดำเนินงานของ ธปท.ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์ ทำให้ ธปท.ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในปีนี้ ธปท.มีการบริหารเพื่อหารายได้ ซึ่งปีนี้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีความผิดปกติ ดังนั้น ธปท.ก็น่าจะมีผลกำไร หรือมีผลขาดทุนไม่มาก แต่คงต้องดูช่วงที่เหลือของปีด้วย นอกจากนี้ ธปท.ได้มีการส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังในการรับโอนทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯที่มีกว่า 1 แสนล้านบาทมาก่อนกำหนดได้ เพื่อให้กระทรวงการคลังนำมาหาผลประโยชน์

ส่วนแนวทางการแยกบัญชีเพื่อจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ นายประสาร กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะเป็นการแยกบัญชีโดยนำเงินสำรองระหว่างประเทศที่ต้องรับมาทั้งด้านหนี้สินและทรัพย์สิน แต่ขณะเดียวกัน ธปท.มีหน้าที่ต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอในกรณีที่นักลงทุนต่างประเทศมีการถอนเงินออก ซึ่งแนวทางการดำเนินการดังกล่าวคงต้องมีการหารือกันต่อไป

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า โจทย์ทั้ง 4 ข้อที่ รมว.คลังได้มอบหมายมานั้น จะได้นำเสนอคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศและภาระหนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จะนำหารือคณะกรรมการ ธปท. ส่วนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จะนำเสนอ กนง.

และส่วนที่เกี่ยวข้องสถาบันการเงิน จะได้เสนอคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน โดยหลักสำคัญจะยึดประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไม่ได้มองว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซงการทำงาน เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความหวังดีทำเพื่อประเทศชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ