(เพิ่มเติม) ภาคเอกชน-นักวิชาการสนับสนุนแนวนโยบายลอยตัวราคาพลังงานของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2011 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบการกลุ่มพลังงานและนักวิชาการให้การสนับสนุนแนวนโยบายลอยตัวราคาพลังงานของรัฐบาลในงานเสวนานโยบายเศรษฐกิจพลังงานประจำปี เรื่อง "ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร จากการลอยตัวราคาพลังงาน"

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น และก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเร่งศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพราะไม่เช่นนั้นคนไทยจะต้องแบกรับภาระการอุดหนุนให้กับประชาชนกลุ่มอาเซียนกว่า 600 ล้านคน หลังจากข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) มีผลบังคับใช้ในปี 2558 โดยรูปแบบคงจะต้องทยอยปรับขึ้นราคา

ปัจจุบัน ปตท.แบกรับราคาเอ็นจีวีปีละ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบกรับภาระการนำเข้าแอลพีจีกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังต้องแบกรับภาระอุดหนุนพลังงานสีเขียว หรือพลังงานทดแทน ซึ่งในการเตรียมพร้อมการลอยตัว ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบถึงต้นทุนของพลังงานสีเขียว หรือกรีนไพรสซิ่ง ที่มีราคาสูงกว่าพลังงานฟอสซิล และหากคนไทยจะสนับสนุนกรีนไพรสซิ่งก็ต้องยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้นดีกว่าการที่ภาครัฐจะต้องอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนต่อไป

ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร PTT กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีนโยบายให้ ปตท.ไปศึกษาเรื่องการจัดทำบัตรเครดิตพลังงาน โดยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและรายละเอียด โดยอาจทำเป็นรูปแบบบัตรเครดิต บัตรเดบิท หรือบัตรส่วนลด หรืออาจจะมีการผสมรูปแบบกัน โดย ปตท.จะเสนอผลการศึกษาที่ระบุถึงผลดีและผลเสียของนโยบายดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเรื่องที่มีความกังวล คือ วินัยทางการเงินของกลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ปตท.จะจัดทำแผนเสนอไปยังกระทรวงพลังงานในการพิจารณา เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้เสียในระบบ

เบื้องต้นจะมีการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยในภาคขนส่งก่อน เช่น ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้สาธารณะ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งในกลุ่มของมอเตอร์ไซด์รับจ้างจะเป็นกลุ่มที่มีการเก็บข้อมูลได้ยากเนื่องจากมีจำนวนมากและยังไม่มีการขึ้นทะเบียนไว้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน ทั้งนี้ ปตท.จะต้องดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินและรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด และอนุมัติการช่วยเหลือในกลุ่มใดบ้าง

ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ยอมรับว่า การลอยตัวราคาพลังงานในระยะสั้น ประชาชนอาจจะต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์เมื่อราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะจะมีการปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด และทำให้โครงสร้างราคาถูกบิดเบือนน้อยลง รวมถึงเกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับผู้ใช้พลังงาน เพราะปัจจุบันมีประชาชนบางกลุ่มยังต้องแบกรับภาระค่าพลังงานแทนคนอีกกลุ่มหนึ่ง ช่วยลดการแทรกแซงราคาพลังงานของภาครัฐ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอาจจะต้องดูแลการแข่งขันให้เป็นไปตามกลไก เพื่อป้องกันการผูกขาด และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนเองยังเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะการลอยตัวราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าสูงถึง 1.6 ล้านตัน ต้องใช้เงินอุดหนุนถึง 2.2 หมื่นล้านบาท หากไม่ลอยตัวราคาพลังงานในวันนี้ เมื่อมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ประเทศเพื่อนบ้านก็จะสามารถใช้พลังงานราคาถูกจากไทยได้ ระยะเร่งด่วนรัฐบาลจึงควรลอยตัวราคาแอลพีจีก่อน แล้วลดการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่ 2 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นจึงปรับราคาเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นตามต้นทุน

วิธีการลอยตัวราคาแอลพีจี รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การปรับขึ้นราคาแอลพีจีพร้อมกันทุกภาคส่วน โดยคำนวณจากราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 60 และราคานำเข้าร้อยละ 40 ซึ่งวิธีนี้ ราคาแอลพีจีจะปรับขึ้น 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยการแจกบัตรเครดิตพลังงาน หรือคูปองส่วนลด

ส่วนอีกรูปแบบ คือตรึงราคาภาคครัวเรือน และปรับขึ้นในภาคขนส่งเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม คือ ไตรมาสละ 3 บาท 4 ไตรมาส รวมเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาจะสูงกว่ารูปแบบแรก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลลอยตัวราคาแอลพีจี จะทำให้ภาระกองทุนน้ำมันฯ ลดลงร้อยละ 10-20 หรือประมาณ 1-2 พันล้านบาท

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กรณีที่ที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายจะตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาตินั้นจะเป็นประโยชน์เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยสามารถซื้อน้ำมันเก็บสำรองไว้ เพื่อช่วยบริหารจัดการในช่วงที่ราคาน้ำมันถูก และยังช่วยเรื่องการขาดแคลน แต่รัฐบาลจะต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าจะนำเงินจากแหล่งใดมาใช้ถึงจะเหมาะสม เช่น จากภาษีหรือกองทุนน้ำมัน แต่หากจะนำมาจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศอาจมีความเสี่ยงเพราะกองทุนสำรองของไทยมีทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งคงไม่สามารถไปเปรียบเทียบกับจีนได้ ที่จีนมีแต่สินทรัพย์เท่านั้น

นอกจากนี้ กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติยังต้องขึ้นอยู่กับผู้จัดการกองทุนว่าจะมีความสามารถในการบริหารจัดการได้มากน้อยเพียงใด เพราะในหลายประเทศกองทุนดังกล่าวก็มีปัญหาเรื่องการขาดทุน และเมื่อขาดทุนก็จะเป็นการขาดทุนของประเทศชาติ

ส่วนนโยบายของรัฐบาล ทั้งการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการลดค่าครองชีพประชาชนหลายเรื่อง เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ได้เกิดผลดีต่อโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว โดยเฉพาะการจำนำข้าว ผลการศึกษาพบว่า ชาวนาที่ร่ำรวย และโรงสี จะได้ประโยชน์ ขณะที่ชาวนาระดับล่างได้ประโยชน์น้อยมาก เช่นเดียวกับการอุดหนุนราคาพลังงาน การอุดหนุน ดีเซล เบนซิน แอลพีจี เอ็นจีวี ผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นผู้ที่มีรายได้สูงเป็นหลัก

ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะระบุว่าการอุดหนุนราคาพลังงานมีหลักการที่จะช่วยเหลือคนยากจนเป็นหลัก แต่จากผลการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) พบว่า การอุดหนุนพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา ประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกกับผู้มีรายได้สูง เช่นเดียวกับประเทศไทย การอุดหนุนราคาดีเซล พบว่า ประโยชน์ร้อยละ 40 อยู่ที่คนมีรายได้สูงสุด ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการศึกษาหากจะต้องมีการอุดหนุนคนจนจะต้องมีการทำรูปแบบใดที่ดีที่สุดและยังพบว่า การบิดเบือนราคาทำให้เกิดการบิดเบือนจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น การตรึงราคาแอลพีจี ทำให้จำเป็นต้องตรึงเอ็นจีวีไปด้วย ส่วนการลดเงินกองทุนน้ำมันเบนซินของรัฐบาลก็จะส่งผลกระทบต่อนโยบายของแก๊สโซฮอล์

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูการตรึงราคาน้ำมันในอดีตไม่ได้ช่วยเรื่องการลดภาวะเงินเฟ้อภาพรวม เพราะการตรึงราคาจะช่วยลดเงินเฟ้อระยะสั้น แต่เมื่อปล่อยไปตามกลไก เงินเฟ้อจะปรับเพิ่มสูงขึ้นทันที โดยเห็นได้ชัดในช่วงการยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันในช่วงปี 47-48 ที่ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงมาก ดังนั้นภาพรวมจะมีผลต่อจีดีพีให้โตในระดับที่เท่ากัน ไม่ว่าจะตรึงหรือไม่ก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ