เอกชน-นักวิชาการประสานไม่ค้านปรับขึ้นค่าแรงแต่ต้องพัฒนาฝีมือควบคู่กันไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2011 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "วิเคราะห์และศึกษาผลกระทบนโยบายประชานิยม ค่าแรง และเงินเดือน ของรัฐบาลชุดใหม่ทำได้จริงหรือ" ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการนโยบายการเงิน การคลัง และงบประมาณ จัดงาน โดยนายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เพื่อเป็นการสร้างสมดุลให้ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐบาลขอเวลาในการไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบในการออกนโยบายนี้ เพราะหากพิจารณาไม่รอบคอบ ความเสียหายจะตกอยู่ที่นายจ้างและลูกจ้าง แต่ยืนยันว่าภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนถ้าหากผู้ประกอบการต้องการจะจัดหาเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่แรงงาน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะต้องทำควบคู่กับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งคงจะเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องช่วยพิจารณา เพราะหากลูกจ้างไม่มีการพัฒนาฝีมือก็สมควรที่จะต้องเลิกจ้าง และยอมรับว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้มีแรงงานบางส่วนต้องตกงาน จึงอยากให้แรงงานมีการพัฒนาประสิทธิภาพฝีมือการทำงานไปควบคู่กับการได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนความกังวลว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลราคาสินค้าและจับตาภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของไทยขณะนี้ถือว่ายังใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อของโลก

ขณะที่แนวคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันว่า ในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลงานด้านเศรษฐกิจจะประสานกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องของการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง โดยจะไม่ให้มีการออกเป็นพ.ร.ก.เด็ดขาด โดยจะให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะส.ว.เข้ามามีส่วนช่วยในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.และจะคำนึงถึงความรอบคอบและผลประโยชน์ของทุกฝ่ายหลังจากที่มีการตั้งข้อสังเกตและแสดงความเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลเร่งรีบที่จะมีการตั้งกองทุนและออกเป็นพ.ร.ก.อาจจะทำให้มีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและจะเป็นผลเสียกับทางรัฐบาลเอง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางหรือขนาดเล็ก(SMEs) โดยดูว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากทำให้ภาคเกษตรและภาคแรงงานมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ อำนาจการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น คนได้ประโยชน์มากสุดคือธุรกิจระดับท้องถิ่น เพราะเมื่อมีการกระจายรายได้สู่ต่างจังหวัด การจับจ่ายใช้สอยในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะดีขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ฝากให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงโดยสะท้อนภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะจะเห็นได้ว่าค่าแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเติบโตเพียง 6% เท่านั้น

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เห็นด้วยที่จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ฝากเตือนรัฐบาลให้คำนึงถึงผลกระทบทั้งระบบ และอยากให้รักษาสมดุลเศรษฐกิจได้ แต่มองว่าไม่ควรจะเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เพราะอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมือ เพราะแรงงานเหล่านี้อาจไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีค่าแรงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าควบคู่ไปกับการเพิ่มค่าแรงด้วย เพราะเกรงว่าแม้จะเพิ่มค่าแรง แต่ประสิทธิภาพสินค้าอาจต่ำลง

"อยากให้การเพิ่มค่าแรงเป็นการเพิ่มค่าแรงอย่างยั่งยืน เพราะการเพิ่มค่าแรงสูงขึ้นด้วยปัจจัยอื่น อาจจะไม่มีส่วนช่วยในการพัฒนาเนื้องาน"

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความแตกต่างของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท และอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบเพราะบางอุตสาหกรรมจะมีแรงงานที่ไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดความยากลำบากต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานและอาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ด้านนายภาณุพงษ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องนี้อยากให้เป็นนโยบายที่คงเส้นคงวาเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ พร้อมทั้งฝากว่าตัวจักรสำคัญอีกอย่างคือหากทำให้เสถียรภาพรัฐบาลมีความมั่นคงถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้คนกล้าออกมาใช้จ่ายและนักลงทุนมีความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ อยากฝากว่าในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่มีจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และจะมีส่วนช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงมาได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ