ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงเหตุตลาดวิตกเสถียรภาพเศรษฐกิจยูโรโซน

ข่าวต่างประเทศ Friday September 2, 2011 07:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับรายงานภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงในยูโรโซน ขณะที่เงินฟรังค์ยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากไม่มีรายงานการเข้าแทรกแซงตลาดของทางการสวิตเซอร์แลนด์

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.77% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.4267 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.4377 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลง 0.49% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.6173 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6252 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 76.810 เยน จากระดับ 76.590 เยน แต่ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง 1.35% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.7948 ฟรังค์ จากระดับ 0.8057 ฟรังค

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0745 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0701 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.36% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8509 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8540 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเทขายสกุลเงินยูโรเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยูโรโซน หลังจากมาร์กิต อิโคโนมิครายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตในยูโรโซนร่วงลงแตะ 49 จุด จากระดับ 50.4 จุด ในเดือนก.ค. โดยตัวเลขเดือนส.ค.ต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 49.7 จุด และถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 2 ปี

นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่ารัฐบาลอิตาลีสามารถประมูลขายพันธบัตรได้เพียง 7.7 พันล้านยูโร ด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5.22% ขณะที่รัฐบาลสเปนประมูลขายพันธบัตรอายุ 5 ปีได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์เช่นกัน

สกุลเงินฟรังค์ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรานับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นายโยฮัน ชไนเดอร์-อัมมาน รมว.เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ได้สนับสนุนการดำเนินนโยบายที่ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการแข็งค่าของสกุลเงินฟรังค์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวผันผวนเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้จุดปะทุให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ โดยดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.ของสหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 50.6 จุด ซึ่งลดลงจากเดือนก.ค.ที่ระดับ 50.9 จุด ส่วนประสิทธิภาพการผลิตของสหรัฐปรับตัวลง 0.7% ในไตรมาส 2 ปี ซึ่งเป็นการลดลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงเพียง 0.5% นอกเหนือข้อมูลที่อ่อนแอในภาคการผลิตแล้ว สกุลเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค.ลดลงเพียง 12,000 ราย สู่ระดับ 409,000 ราย นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payrolls) เดือนส.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนนี้ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 75,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งถึง 117,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนส.ค.จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 9.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ