Analysis: ดัชนี PMI เดือนส.ค.ดีดตัว แต่ยังไม่พอช่วยยืนยันเศรษฐกิจจีนสดใส

ข่าวต่างประเทศ Friday September 2, 2011 09:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนขยายตัวขึ้นแล้ว หลังจากที่อ่อนตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ข้อมูลดังกล่าวชึ้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพ แต่ขณะเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน

ที่เห็นได้ชัดคือ ดัชนียอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกล็อตใหม่ในระบบ PMI ร่วงลงมาอยู่ที่ 48.3 ในเดือนส.ค. จากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. บ่งชี้ว่า การส่งออกของจีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยง และการขยายตัวด้านการส่งออกอาจจะชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้

-- ยากที่จะมีมุมมองสดใสต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ดัชนี PMI ดีดตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย

สมาพันธ์ลอจิสติกและการจัดซื้อแห่งชาติของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 50.9 ในเดือนส.ค. จากระดับต่ำสุดในรอบ 29 เดือนที่ 50.7 ในเดือนก.ค. นับเป็นการยุติการอ่อนตัวลงต่อเนื่องกันมานาน 4 เดือน

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนของเอชเอสบีซีก็ขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 49.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 49.3 ในเดือนก.ค.

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งที่ 50 แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ดัชนี PMI ที่จัดทำโดยเอชเอสบีซีขยายตัวขึ้น หลังจากที่อ่อนตัวลงมาติดต่อกัน 3 เดือน

โดยตัวเลขที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนตัวเลขที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวลง

จาง หลี่ฉุน นักวิจัยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ดัชนี PMI ที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนส.ค. สะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ แต่ปัจจัยพื้นฐานใหม่ๆสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งพอ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอยู่

นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตของระบบ PMI ซึ่งเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวขึ้นเพียง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนียอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ก็ร่วงลง 2.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2552

ไค่ จิน รองประธานของ CFLP กล่าวว่า การดีดตัวของ PMI ในเดือนส.ค. ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานหลักๆที่ดีขึ้น เช่น การผลิตและอุปสงค์ และการขยายตัวขึ้นเพียงเดือนเดียวก็ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าเศรษฐกิจดีดตัวขึ้น

-- การขยายตัวด้านการส่งออกของจีนอาจจะชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่และดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ของระบบ PMI ซึ่งเป็นตัวสะท้อนอุปสงค์ ต่างก็อ่อนแอด้วยกันทั้งคู่ในเดือนส.ค.

โดยดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ยังทรงตัวจากเดือนก.ค.ที่ 51.1 และดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ร่วงลงแตะ 48.3 จากระดับ 50.4

ดัชนีปริมาณธุรกิจใหม่ของระบบ PMI ของเอชเอสบีซี ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ของบริษัทเอกชน ปรับตัวลงเล็กน้อยเช่นกัน และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่จัดทำโดยเอชเอสบีซีก็ร่วงลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ไค่กล่าวว่า แนวโน้มของอุปสงค์ที่ร่วงลงนั้น เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว

ด้านนายจางมองว่า การขยายตัวด้านการบริโภคที่ลดลงเมื่อเทียบรายปี อาจจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกสักพัก ส่วนดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ร่วงลงบ่งชี้ว่า การขยายตัวด้านการส่งออกในอนาคตมีแนวโน้มสูงที่จะอ่อนตัวลง

ข้อมูลสถิติทางศุลกากรแสดงให้เห็นว่า การขยายตัวด้านการส่งออกของจีนดีดตัวขึ้นแตะระดับ 20.4% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนก.ค. หลังจากที่อ่อนตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในตลาดมีมุมมองที่เป็นลบเกี่ยวกับความแข็งแกร่งด้านการส่งออกในอนาคต

โดยนายหวัง เต๋า นักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอส ซิเคียวิริตีส์ คาดการณ์ว่า การขยายตัวด้านการส่งออกจะลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการบริโภคในอุตสาหกรรมการผลิต

ขณะที่ หลี่ เหมี่ยวเซี่ยน นักวิเคราะห์ด้านมหภาคของแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอในต่างประเทศได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน แต่การส่งออกคงจะไม่ร่วงลงมากนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่จีนส่งออกนั้น เป็นสินค้าจำเป็น

-- ราคาปัจจัยการผลิตที่ดีดตัวขึ้นทำให้แนวโน้มของเงินเฟ้อไม่แน่นอน

ดัชนีราคาปัจจัยการผลิตของ CFLP ดีดตัวขึ้น 0.9% จากเดือนก.ค. แตะ 57.2% ในเดือนส.ค. หลังจากที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันมา 5 เดือน

ขณะเดียวกัน ต้นทุนปัจจัยการผลิตของระบบ PMI ของเอชเอสบีซี ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนส.ค. และอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับสูงสุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

เหอ หยี่เฟิง นักวิจัยอาวุโสจากหงหยวน ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า ราคาปัจจัยนำเข้าที่สูงขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และการคาดการณ์ด้านเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ตลาดได้ซึมซับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ในยุโรปและสหรัฐอย่างเต็มที่แล้ว

เงินเฟ้อของจีนขยายตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 37 เดือนที่ 6.5% ในเดือนก.ค. ซึ่งสูงกว่าเพดานเป้าหมายของรัฐบาลที่ 4% อยู่มาก

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนส.ค.ของจีน จะปรับตัวลดลงจากเดือนก.ค. เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ร่วงลงและนโยบายการเงินที่ค่อนข้างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆในตลาดต่างประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อจึงยังไม่มีแนวโน้มว่าจะอ่อนตัวลงมากนักในเดือนส.ค.

นอกจากนี้ นายไค่ระบุว่า สหรัฐและประเทศต่างๆ อาจใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆปรับตัวสูงขึ้น และผลักดันเงินเฟ้อนำเข้าของจีนให้สูงขึ้นด้วย สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ