นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า จะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อเปิดเสรีด้านการเงินให้เร็วขึ้น รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งตามข้อตกลงของ AEC จะมีการเปิดเสรีเมื่อมีความพร้อมในปี 58 และเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปี 63 แต่ตนเองเห็นว่า ไทยควรจะเปิดเสรีให้เร็วกว่ากำหนด โดยเฉพาะการเปิดรับให้ธนาคารอันดับ 1 ถึง 3 ของอาเซียนเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทย
ขณะเดียวกันมองว่าธนาคารของไทยถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับการแข่งขัน หรือขยายการลงทุนในอาเซียน รวมถึง อาเซียน + 3 ซึ่งจะเป็นกระตุ้นการแข่งขันระบบสถาบันการเงินทั้งในอาเซียน นอกจากนี้จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการได้มกาขึ้น และทั้งหมดจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
"จะหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ดูว่าเราจะสามารถดำเนินการได้เมื่อใด ซึ่งมองว่าแบงก์ไทยมีความพร้อมรองรับการแข่งขัน ดูได้จากผลกำไรแต่ละแบงก์ที่มีสูง"รมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง การเตรียมความพร้อมสู่ AEC ในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 เรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทย ก้าวอย่างมั่นใจสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า โจทย์สำคัญสำหรับไทยที่ต้องวางมาตรการเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมและใช้ประโยชน์จาก AEC จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนได้อย่างมีกลยุทธและเป็นระบบ
โดยภาคเอกชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะต้องมีการปรับทัศนคติที่ถูกต้อง โดยมองการเปิด AEC เป็นโอกาสของการขยายตลาด แสวงหาประโยชน์จากปัจจัยการผลิต ไม่ใช่มองเป็นภัยคุกคามการแข่งขันทางธุรกิจเพียงด้านเดียว นอกจากนี้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งการ upgrade เครื่องมือ เทคโนโลยี กระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ มีทักษะ มีความสามารถบริหารจัดการ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในอาเซียน เพราะที่ผ่านมากระบวนการผลิตของภาคเอกชนมักจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุโรปและสหรัฐเป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเข้มแข็ง มีสินค้าและบริการที่มีจุดเด่น แตกต่าง เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการในอาเซียน ทั้งการลงทุนในไทยและขยายตลาดสู่อาเซียน โดยภาคเอกชน
ในส่วนของภาครัฐจะต้องมีการเตรียมพร้อมรองรับ AEC ใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านมาตรการการคลัง จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและกระบวนการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยที่ 30% ถือว่าสูงกว่าอาเซียน และจะมีการปรับลดเหลือ 23% ในปี 55 และเหลือ 20% ในปี 56 ซึ่งจะทำให้ระบบภาษีของไทยแข่งขันได้ ขณะเดียวกันจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลดภาษีและสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีระบบภาษีที่จูงใจการลงทุนมากเกินไป นอกจากนี้จะพิจารณาอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการย้ายฐานการเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อให้ธุรกิจข้ามชาติมีการย้ายฐานมาลงทุนในไทยมากขึ้น
2. มาตรการด้านการเงิน ที่จะมีการเปิดเสรีด้านการเงินเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย และจะทำให้มีการให้บริการและพัฒนาสินค้าที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีด้านการเงินซึ่งตามแผนและข้อตกลง AEC จะเปิดเสรีการเงินด้านสาขาย่อยที่มีความพร้อมภายในปี 58 และเปิดเต็มรูปแบบในปี 63 แต่เห็นว่า หากมีความพร้อมไทยน่าจะเปิดเสรีการเงินได้ก่อนโดยไม่ต้องรอเวลาตามข้อตกลง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สถาบันการเงินประเทศคู่ค้า ที่เป็นอันดับต้นๆของประเทศนั้น มาเปิดสาขาในไทยได้ ซึ่งจะได้หารือกับ ธปท.ในการเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าว
"ผมเห็นว่าถ้าเป็นไปได้น่าจะเปิดเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะเมื่อจะมีการเปิดเสรี ทำไมจะต้องรอช้า และเห็นว่าจะให้เปิดเสรีให้สถาบันการเงินประเทศคู่ค้ามีความสำคัญมากขึ้น ถ้าเราจะเปิดตลาดอาเซียน แต่ไม่มีแบงก์ของอาเซียนมาเปิดในไทย เช่นให้แบงก์อันดับ 1-2-3 ของฟิลิปปินส์ มาตั้งในไทย ซึ่งจะได้หารือกับแบงก์ชาติในเรื่องนี้" นายธีระชัย กล่าว
3.มาตรการลงทุนด้านตลาดทุน ซึ่งตนเองได้มีการวางพื้นฐานตั้งแต่เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการจัดประชุมระหว่าง ก.ล.ต.อาเซียน เพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีการเดินหน้าไปมากแล้ว และตั้งเป้าหมายให้เงินไหลเข้าออกระหว่างตลาดทุนต่างๆ ในอาเซียนมีความง่าย คล่องตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงอาเซียนจำเป็นต้องมีการวางพื้นฐานในอีกหลายด้าน เช่นในด้านตลาดทุน ที่เมื่อถึงจุดให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามพรมแดนได้แล้ว อาจมีปัญหาการฟ้องร้องคดีแพ่งข้ามพรมแดน ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทต่างๆ ได้ ซึ่งการฟ้องร้องจะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเห็นว่าควรมีการจัดตั้งทีมงานที่มีผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย เข้ามาดูแลช่วยเหลือผู้ถือหุ้นรายย่อยในการดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งข้ามพรมแดนได้คล่องตัว รวมไปถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ที่จะต้องมีการปรับปรุงแนวทางปฎิบัติเช่นกัน
"จากการที่จะมีการเปิด AEC ทำให้คลังจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง โดยโครงสร้างจะมีอธิบดีทุกกรมต่างๆ ของกระทรวงการคลัง มีผู้ว่า ธปท. เลขาธิการ ก.ล.ต. และเลขาธิการ คปภ.ร่วมเป็นกรรมการดูแลภาพรวมการขับเคลื่อนกระบวนการรวมตัวของอาเซียนที่เกี่ยวกับการเงินการคลังทั้งระบบ นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะมีการจัดตั้งสำนักการเงินการคลังอาเซียน เป็นจุดศูนย์กลางผลักดันเรื่องต่างๆ" รมว.คลัง กล่าว
ทั้งนี้มองว่าการรวมตัวของอาเซียนถือเป็นโอกาสครั้งใหญ๋ แต่หากภาคเอกชนมีการเตรียมตัวไม่ทันรองรับการรวมตัวของ AEC ถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวรับแต่เนิ่นๆ