"ฉลองภพ" ระบุกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันเหมาะสม-ไม่เป็นอุปสรรคกต่อการเติบโตศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2011 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3% ถือว่ามีความเหมาะสมและไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นต่อระบบการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เป็นการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนได้รับอานิสงก์ที่รัฐบาลจะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ และหากพิจารณาการดำเนินการตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อย้อนหลัง 10 ปี ถือว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยดีที่สุดในโลก เพราะมีเพียง 2 ครั้งที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่นอกกรอบ

"การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในบางประเทศกำหนดเป็นจุด เช่น 2% แต่ผลคือหากไม่สามารถดูแลให้เป๊ะๆได้ ผลที่ตามมาก็คือตลาดไม่เชื่อว่าทำได้จริง...หากมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้การบริหารยากขึ้น จะทำให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดในการดูแลเงินเฟ้อลดลงด้วย ซึ่งการปรับกรอบเงินเฟ้อให้แคบลงคงทำไม่ได้ เพราะกระทบความเชื่อมั่น" นายฉลองภพ กล่าว

ทั้งนี้มองว่าจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มทรงตัว จากปัญหาลิเบียที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง ดังนั้นมองเงินเฟ้อในประเทศน่าจะเริ่มเป็นขาลงได้ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ผลของนโยบายยังต้องใช้เวลาในการกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจ

สำหรับ แนวคิดการนำเงินสำรองระหว่างประเทศจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเห็นว่า รัฐบาลจะต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่า มีนักลงทุนต่างชาติถือครองทรัพย์สินระยะสั้นและแปลงเป็นเงินบาทได้ ในจำนวนมากน้อยแค่ไหน หากคิดว่ามีเงินสำรองเพียงพออยู่ในวิสัยรองรับได้ และสามารถจัดสรรเงินส่วนเงินนำไปลงทุนได้ เห็นว่า อันดับแรก ควรนำมาล้างหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก่อน เพื่อที่รัฐบาลไม่ต้องมีการตั้งงบประมาณปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาชำระดอกเบี้ย และสามารถนำเงินงบประมาณดังกล่างไปลงทุนด้านอื่นๆได้ ถือเป็นความคุ้มค่าโดยไม่มีความเสี่ยง แต่การจะดำเนินการดังกล่าวได้ จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.บ.รองรับ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างรอบคอบ

นายฉลองภพ ยังกล่าวอีกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอัตรา 3-4% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ยังไม่น่าพอใจ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพีง 2.9% ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจให้มากขึ้น อย่างน้อยเติบโตเกิน 5% โดยการที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศถือเป็นเรื่องที่ดี โดยไม่ควรกังวลจะจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากต้นทุนของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นเป็นหลัก

นอกจากนี้รัฐบาลควรกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนในประเทศเพียง 20-25% ของจีดีพี ในขณะที่เงินออมในประเทศอยู่ที่ 35%ของจีดีพี ซึ่งยังมีการออมส่วนเกินที่นำมาลงทุนได้ อย่างน้อยควรเพิ่มการลงทุนในประเทศเป็น 30% ของจีดีพี โดยเริ่มที่การลงทุนภาครัฐก่อน เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีการลงทุนตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ