วิกฤตหนี้ยุโรปที่ส่งผลโยงใยไปทั่วโลกมาโดยตลอดนั้น พิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีความชัดเจนและประสิทธิภาพเพียงพอ ดังจะเห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ผันผวนและร่วงลงสลับกันไปเมื่อเร็วๆนี้ ล้วนมีปัจจัยจากชะตากรรมที่มืดมัวของยุโรปเข้ามาพัวพันด้วยเสมอ
แม้แต่นายโรเบิร์ต โซลิค ประธานธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ยังออกปากถึงสถานการณ์ในยุโรปว่า ยุโรปกำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงกว่าสหรัฐ และวิกฤตหนี้สินในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน พร้อมกับกล่าวเป็นนัยว่า รัฐบาลประเทศต่างๆในยูโรโซนควรสละอำนาจการควบคุมงบประมาณบางส่วนในประเทศของตน เพื่อให้นโยบายการใช้จ่ายของแต่ละประเทศในยูโรโซนมีความสอดคล้องกัน
ดูท่าว่า คำแนะนำของประธานธนาคารโลกคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกันได้ เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนแต่ละประเทศต่างก็ต้องรับมือกับสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมภายในประเทศที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเรือใหญ่อย่างเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรปและให้การสนับสนุนด้านการเงินมากที่สุดในกลุ่มนั้น กำลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้นางแองเจลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กต้องกุมขมับ หลังจากที่พรรคคริสเตียน เดโมเครติคส์ (ซีดียู) ของเธอพ่ายศึกเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หรืออิตาลีที่ต้องเผชิญกับความแตกแยกในรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อการออกมาตรการทางเศรษฐกิจ ขณะที่กรีซเองก็ยังคงเวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งหนี้ รวมทั้งสเปนที่สถานการณ์ในประเทศก็ยังปั่นป่วน
นางแมร์เคิล วัย 57 ปี ซึ่งนั่งตำแหน่งนายกฯเยอรมนีมา 2 สมัย นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2548 และยังเป็นบุคคลที่นิตยสารฟอร์บส์ยกให้เป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองอันดับ 1 ของโลกจากการจัดอันดับในปีนี้ ด้วยบทบาทในการนำพาเศรษฐกิจของเยอรมนีที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของโลก ฟันฝ่าวิกฤติหนี้ยูโรโซน และปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐมาได้นั้น กลับต้องมาพ่ายศึกเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น ของเยอรมนี ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของเธอเองเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา
พรรคซีดียูของนางแมร์เคลได้คะแนนเพียง 24% ลดลงจากที่เคยได้ถึง 28.8% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ขณะที่พรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้คะแนนถึง 37% นับเป็นการปราชัยในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของนางแมร์เคลเอง สาเหตุที่ทำให้พรรคของนางแมร์เคลพ่ายศึกเลือกตั้งนั้น เป็นเพราะชาวเยอรมันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ยูโรโซน
แม้ว่า เยอรมนีจะมีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว วิกฤตหนี้ยุโรปเรื้อรัง ญี่ปุ่นเองก็ต้องพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากภัยพิบัติครั้งรุนแรง ทำให้เยอรมนีต้องหาทางนำพาประเทศให้รอดพ้นจากปัจจัยลบที่รุมเร้าเหล่านี้ให้ได้ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนจึงเปรียบเสมือนสัญญาณโทรศัพท์ที่ไร้ซึ่งสัญญาณตอบรับจากประชาชน
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้ไว้ที่ 3.2% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเยอรมนีในปีหน้าลงสู่ระดับ 1.6% จากระดับ 2.0% ถือเป็นอีกสัญญาณบ่งชี้ว่า เยอรมนีคงจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายต่อไปอีกนาน เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือเหล่าประเทศที่ประสบปัญหาคาดว่า จะไม่ผ่านฉลุยเหมือนในอดีตเป็นแน่แท้
อิตาลีเองก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มิหนำซ้ำยังมีภาระหนี้สินในระดับน้องๆกรีซ เมื่อวานนี้ วุฒิสภาอิตาลีต้องอภิปรายท่ามกลางสถานการณ์ประท้วงภายในประเทศ โดยสมาชิกของสหภาพการค้าของอิตาลีจำนวนหลายล้านคนได้ชุมนุมประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดล่าสุดของรัฐบาล โดย CGIL ซึ่งเป็นสมาพันธ์สหภาพที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการกับผู้เลี่ยงภาษีและคุ้มครองการจ้างงาน
การประท้วงดังกล่าวส่งผลให้เที่ยวบินหลายเที่ยวได้ถูกยกเลิกไป ส่วนรถไฟและรถโดยสารหยุดให้บริการ ขณะที่สถานที่ราชการส่วนใหญ่ปิดทำการ
เมื่อย้อนไปดูรายละเอียดของมาตรการรัดเข็มขัดอิตาลีแล้ว จะเห็นได้ว่า เนื้อหาในมาตรการส่งผลกระทบไปทุกหัวระแหงของประเทศ อาทิ การจัดเก็บภาษีพิเศษ 3% กับผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 3 แสนยูโร การจัดเก็บภาษีการโอนเงินสดจากชาวอิตาลิที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในต่างประเทศในอัตรา 2% ไปจนถึงการลดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นลง ส่งผลให้จังหวัดต่างๆได้รับเงินงบประมาณน้อยลง
ความเดือดร้อนครั้งนี้ จุดประกายให้เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโรมไปทางตะวันออก 100 กิโลเมตรที่มีชื่อว่า “ฟิเลตติโน" คิดแยกตัวเป็นเอกเทศและพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้เอง เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ขณะที่นักท่องเที่ยวก็นิยมซื้อพันธบัตรของฟิเลตติโน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรเพียง 500 คน ไว้เป็นที่ระลึก
อย่างไรก็ดี วุฒิสภาอิตาลีอาจจะลงมติรับรองมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ก่อนหน้านี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกกังวลของนักลงทุนที่มีต่อหนี้สินของประเทศของอิตาลีนั้น ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด และดีดตัวแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือนไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้ว่า ธนาคารกลางยุโปจะเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีไปเมื่อเดือนส.ค.แล้วก็ตาม
ประธานาธิบดีจิออร์จิโอ นาโปลิตาโน ของอิตาลี ต้องออกมาเตือนถึงกรณีที่ค่าสเปรดระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรเยอรมนีและอิตาลีที่สูงขึ้น โดยตลาดหุ้นอิตาลีร่วงลงไปกว่า 3% ช่วงบ่ายวานนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแผนการรัดเข็มขัด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้คะแนนนิยมของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลีร่วงหนักเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกัน
กรีซ ซึ่งจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือทางการเงินจากทั้งกองทุนการเงินระหว่งประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) วงเงิน 1.1 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 1.54 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ต้องแบกรับเงื่อนไขที่พ่วงมากับการรับความช่วยเหลือดังกล่าว โดยกรีซต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพื่อให้ประเทศมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น
รัฐบาลกรีซตัดสินใจทำตามเงื่อนไขเหล่านั้น และถูกแรงต้านอย่างหนักจากประชาชนที่ถูกตัดเงินเดือนและเงินบำนาญ จนเกิดการชุมนุมประท้วงและการจลาจลหลายครั้งในประเทศ แม้กรีซจะยอมทำทุกอย่างเพื่อรับเงินช่วยเหลือแต่สถานะทางการคลังก็ไม่ดีขึ้น จนสุดท้ายก็ต้องขอความช่วยเหลือรอบใหม่ในวงเงินเท่าๆกับครั้งแรก
ล่าสุด การประชุมเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของฟินแลนด์ที่ต้องการให้มีการตกลงเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันในการสมทบทุนให้ความช่วยเหลือกรีซที่จัดขึ้นเมื่อเย็นวานนี้ที่กรุงเบอร์ลินนั้น แจน คีส์ เดอ เจเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงคลังเนเธอร์แลนด์ นายวูลฟ์กัง ชูเบิล รัฐมนตรีกระทรวงคลังเยอรมนี และจุตตา เออร์พีไลเนน รัฐมนตรีกระทรวงคลังฟินแลนด์ ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่ทางฟินแลนด์เรียกร้องมา
ฟินแลนด์และประเทศในกลุ่มยูโรโซนพยายามที่จะหาทางออกในการประนีประนอมข้อเรียกร้องของฟินแลนด์ที่ต้องการให้กรีซยึดมั่นในเงื่อนไข โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้ความช่วยเหลือครั้งที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้ลุกลามออกไป
รมว.คลังฟินแลนด์กล่าวว่า เงินงวดต่อไปที่จะมีการส่งมอบให้กรีซนั้น จะไม่สามารถดำเนินการส่งมอบได้หากรัฐบาลกรีซไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ
ด้านกรีซเองต้องออกมายืนยันว่า จะเร่งดำเนินการตามมาตรการรัดเข็มขัดตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ เพื่อแลกกับการรับความช่วยเหลือทางการเงินจากหน่วยงานทั้ง 2 หลังจากที่กรีซต้องแบกรับแรงกดดันจากประเทศคู่ค้าในยุโรป ก่อนที่จะถึงกำหนดการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือกรีซ
สเปนเป็นอีกประเทศที่ตกอยู่ในวังวนของหนี้ เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลสเปนประมูลขายพันธบัตรอายุ 5 ปีได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์นั้น ขณะที่กระทรวงแรงงานสเปนก็ได้เปิดเผยจำนวนคนว่างงานของสเปนในเดือนส.ค.กลับมาขยายตัวขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่อ่อนตัวลงมาเป็นเวลา 4 เดือน
ในระหว่างที่ประเทศต้องรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเลือกตั้งทั่วไปของสเปนก็ใกล้จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 20 พ.ย.นี้ นโยบายใหม่ๆที่พรรคการเมืองชูโรงและมีแววว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้นั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เนื่องจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันในรัฐสภา ขณะที่ภาคประชาชนก็ไม่พอใจกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดเพดานการขาดดุลงบประมาณ
วันนี้ (7 ก.ย.) รัฐสภาสเปนเตรียมลงมติอนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขข้างต้น เพื่อรับประกันว่า งบประมาณจะอยู่ในภาวะที่สมดุล ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งนโยบายการปฏิรูปดังกล่าวถือเป็นเสาหลักในการสร้างสถียรภาพด้านงบประมาณที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้สเปนเป็นประเทศแรกในกลุ่มยูโรโซนที่ปฏิบัติตามเสียงเรียกร้องของฝรั่งเศสและเยอมนีในการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะและยอดขาดดุล
การลงมติรับรองรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จุดชนวนการนัดหมายเพื่อรวมตัวประท้วงในกลุ่มสหภาพแรงงาน 2 กลุ่มใหญ่ อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นภายในพรรคโซเชียลลิสต์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผลจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นต้องติดตาม
แม้ว่า ประเทศเหล่านี้จะเผชิญกับชะตากรรมที่แตกต่างกันไปในรายละเอียดตามที่กล่าวมา แต่ท้ายที่สุดแล้ว สมาชิกของอียูจะต้องเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาต่อไป และเมื่อวิกฤตคลี่คลาย การปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกของกลุ่ม ทั้งในเรื่องของยอดขาดดุลงบประมาณ เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และข้อกำหนดด้านเงินตราอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะวันใดที่ประเทศสมาชิกรายใดรายหนึ่งมีปัญหาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้น บรรดาเพื่อนๆในกลุ่มก็ต้องตกกระไดพลอยโจนรับเคราะห์ไปด้วยเหมือนกับเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นกับกรีซครั้งนี้