นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2554 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.9 จากระดับ 46.2 (เพิ่มขึ้น 2.7) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.8 47.5 และ 50.4 จากระดับ 45.6 46.3 และ 46.4 (เพิ่มขึ้น 3.2 1.2 และ 4.0) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 58.1 และ 49.9 จากระดับ 34.4 และ 42.1 (เพิ่มขึ้น 23.7 และ 7.8) ตามลำดับ
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเลือกตั้ง สส. ผ่านพ้นไปด้วยดีและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้อย่างเรียบร้อย ส่งผลทางจิตวิทยาในด้านบวกต่อประชาชนและนักลงทุนซึ่งผู้ประกอบการมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวระดับสูงต่อเนื่องโดยมีมูลค่า 21,521.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 นอกจากนี้นักลงทุนต่างประเทศมีความมั่นใจต่อรัฐบาลมากขึ้น ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 92.05 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,133.53 จุด"นายยุทธศักดิ์ กล่าว
เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.0 จากระดับ 39.6 (เพิ่มขึ้น 5.4) ภาคค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.9 จากระดับ 45.5 (เพิ่มขึ้น 3.4) เห็นได้จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 84.1 สอดคล้องกับดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 138.01 ขณะที่ภาคบริการ กิจการขนส่งมวลชน และขนส่งสินค้า มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูง อยู่ที่ 49.4 และ 52.2 จากระดับ 39.8 และ 47.2 (เพิ่มขึ้น 9.6 และ 5.0) ตามลำดับ ผลจากเป็นช่วงการเลือกตั้งซึ่งประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดการให้บริการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ พบว่าค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 49.3 จากระดับ 56.0 (ลดลง 6.7) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 50.6 48.7 และ 49.5 จากระดับ 57.6 55.2 และ 56.2 (ลดลง 7.0 6.5 และ 6.7) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 58.4 และ 50.8 จากระดับ 72.5 และ 60.5 (ลดลง 14.1 และ 9.7) ตามลำดับ
ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2554 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.4 จากระดับ 47.1 (เพิ่มขึ้น 7.3) รองลงมาคือภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.0 จากระดับ 46.7 (เพิ่มขึ้น 4.3) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.5 จากระดับ 43.8 (เพิ่มขึ้น 2.7) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.3 จากระดับ 46.9 (เพิ่มขึ้น 1.4) ส่วนภาคใต้เป็นภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 45.3 จากระดับ 46.7 (ลดลง 1.4) ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีลดลงในทุกภูมิภาค
“ปัจจัยบั่นทอนที่ทำให้ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทั้งดัชนีภาพรวมและรายภูมิภาค ปรับตัวลดลงในทุกภาคธุรกิจ มีผลมาจากความกังวลในด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งที่มาจากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเบนซิน 91 ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 43.04 บาท รวมถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงและเงินเดือนระดับปริญญาตรีของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 112.74 สะท้อนถึงค่าครองชีพของประชาชนที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ค่าเงินบาทยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศ" ผอ.สสว. กล่าว