คณะกรรมาธิการอียูเผยสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปยังคงเปราะบาง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 13, 2011 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานการภาคเงินสาธารณะสำหรับปี 2554 ของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป บ่งชี้ชัด ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงมืดมน

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า "สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปยังคงเปราะบาง ในขณะที่เศรษฐกิจบางประเทศยังไม่ฟื้นตัว"

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังบ่งชี้ว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจอยู่ที่ 83.3% ของจีดีพีในปี 2555

กรีซ ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้สิน อาจมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 166.1% ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในยุโรป

นายมาร์โค บูตี ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและการเงินของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้หยิบยกข้อความอันน่าหดหู่ของปีที่แล้วขึ้นมาย้ำอีกรอบในบทความของเขา โดยเน้นไปที่ประเด็นของความยั่งยืน

นายบูตี ระบุว่า ข้อตกลงเสถียรภาพและการเติบโตทางการเงิน (Stability and Growth Pact : SGP) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้มีการปฏิรูปเกิดขึ้น เนื่องจาก SGP ได้กำหนดปัจจัยต่างๆ สำหรับการบริหารภาคการเงินสาธารณะของกลุ่มประเทศอียูแต่ละประเทศ โดยได้เน้นไปที่นโยบายในด้านงบประมาณ

การปฏิรูปดังกล่าวจะกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายในกองทุนเพื่อการป้องกันภายใต้ข้อตกลง และทำให้กฎเกณฑ์ด้านหนี้สินมีผลในทางปฏิบัติผ่านกองทุนฟื้นฟู ในขณะเดียวกันก็กำหนดบทลงโทษในกองทุนฟื้นฟูเป็นครั้งแรกและเพิ่มบทลงโทษในกองทุนฟื้นฟูมากขึ้น รายงานของคณะกรรมาธิการระบุ

นายออลลี เรห์น คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของยุโรป แสดงความคิดเห็นว่า "ในช่วงที่ระดับหนี้สินของกลุ่มประเทศอียูยังอยู่ในระดับสูงและกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น การรับประกับความยั่งยืนของภาคการเงินสาธารณะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อรับประกันการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงานอย่างยั่งยืน"

ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงอย่างหนักอีกระลอกในการซื้อขายในช่วงเช้าเมื่อวานนี้ ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ปิดตลาดช่วงเช้าร่วงลง 4.06% ในขณะที่ราคาหุ้นธนาคารรายใหญ่ของฝรั่งเศส ได้แก่ บีเอ็นพี พาริบาส์, เครดิต อะกริโคล และ โซซิเอเต เจนเนอราล ทรุดลง 11.53% และ 10.05% และ 9.63% ตามลำดับ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ