ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หลังจากที่นโยบายรถคันแรกเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ก.ย.54-31 ธ.ค.55 ทำให้ผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อสามารถตัดสินใจซื้อรถได้ทันที หลังจากที่ได้มีการชะลอการตัดสินใจไปในช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ จากความไม่ชัดเจนของแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ของนโยบาย ส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ช่วงต่อจากนี้ไปถึงสิ้นปี 55 มีโอกาสขยายตัวสูง
ทั้งนี้ เห็นได้จากสถิติในอดีต ช่วงที่รัฐบาลเริ่มมีการประกาศลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งที่ใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 ลงอีกร้อยละ 5 สำหรับรุ่นที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 cc.ในปี 2551 ซึ่งทำให้ราคารถยนต์ในปีนั้นปรับลดลงไปตั้งแต่ประมาณ 30,000 บาท จนถึงมากกว่า 1 แสนบาท ทำให้ยอดขายรถยนต์นั่งมียอดขายที่สูงขึ้นมากกว่าปี 2550 ถึงกว่า 56,000 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 30.8 (YoY)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจากผลของนโยบายรถคันแรกนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงที่เหลือของปี 54 ท่ามกลางการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของค่ายรถออกมา ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 54 นี้ มีโอกาสขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12 ถึง 17 หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ 900,000 ถึง 940,000 คัน เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าที่ 880,000 ถึง 920,000 คัน
และเนื่องจากผลของนโยบายดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 55 ประกอบกับจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่เตรียมจะเปิดตัวออกสู่ตลาดในปีหน้านี้ ทำให้คาดว่าตลาดรถยนต์จะยังได้รับอานิสงส์ของนโยบายต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2555 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 55 มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 7 ถึง 12 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 980,000 ถึง 1,030,000 คัน
นอกเหนือจากผลของนโยบายรถคันแรก การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด และรายได้ของเกษตรกรที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์แล้ว ยังอาจต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะผลของทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสที่จะชะลอตัวลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในปีหน้านี้ ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกำลังการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระดับปกติ
นอกจากนี้ นโยบายรถคันแรกอาจมีผลต่อการปรับกลยุทธ์การทำตลาดของแต่ละค่ายรถ โดยอาจมีการออกรถบางรุ่นที่มี option พิเศษเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับเงินคืนภาษีที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุดที่จะได้รับ รวมถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกับรถที่ผลิตขึ้นในประเทศเท่านั้น ทำให้ค่ายรถบางค่ายที่อาจจะไม่มีรถรุ่นที่เข้ากับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว แต่มีแผนการผลิตหรือเปิดตัวรถรุ่นนั้นๆอยู่แล้ว ต้องเร่งผลักดันเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่เข้าเกณฑ์ออกมาแข่งขันในตลาดเร็วขึ้น