In Focusยูโรโซนเปิดไซเรน จับตากรีซ-ฝรั่งเศส-เยอรมนีถกวิกฤตหนี้คืนนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 14, 2011 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แว่วเสียงไซเรนในยูโรโซนยังคงกระตุกทุกโสตประสาทให้พุ่งความสนใจไปยังต้นเสียงเหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ที่มีกระแสความตื่นตระหนกเกิดขึ้นมากมาย จนกลายเป็นสัญญาณอันตรายที่ทำให้ผู้นำกรีซ ฝรั่งเศส เยอรมนีจัดการประชุมทางโทรศัพท์ในวันนี้เวลา 23:00 น.ตามเวลาในประเทศไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเคลื่อนไหวในยูโรโซนตั้งแต่ต้นสัปดาห์มาจนถึงวันนี้ยังคงอยู่ท่ามกลางสัญญาณอันตรายจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่ยุ่งยากและยุ่งเหยิงทั้งกระแสความหวาดหวั่นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้ อิตาลีอ้อนจีนซื้อพันธบัตรรัฐบาล บุคคลสำคัญของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลาออกแบบช็อกวงการ และธนาคารของฝรั่งเศส 2 แห่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

กรีซ...ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย

จากอดีตศูนย์กลางอารยธรรมกรีกโบราณที่รุ่งเรืองที่สุดเมื่อ 800 ปีก่อนคริสตกาล ในปีคริสตศักราช 2011 กรีซได้เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นศูนย์กลางแห่งวิกฤตหนี้ที่ไม่พึงปรารถนา จนนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ หลังจากที่ประเทศคว้าน้ำเหลวในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ต้นสัปดาห์มานี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งพร้อมใจรายงานถึงความหวั่นวิตกของนักลงทุนในประเด็นดังกล่าว ขณะที่นายฟิลิปปอส ซาชินิดิส รมช.คลังกรีซก็ตอกย้ำความวิตกกังวลของนักลงทุนด้วยการออกมายอมรับว่า รัฐบาลกรีซมีเงินสดก้นกระเป๋าสำหรับการบริหารประเทศเหลือเพียงแค่หนึ่งเดือน!

สัญญาณอันตรายดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ เมื่อกรีซมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 22% ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวในการดำเนินมาตรการลดรายจ่ายภาครัฐจนทำให้ความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อตราสารหนี้กรีซถอยหลังลงคลอง มิหนำซ้ำรัฐบาลกรีซยังคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะติดลบมากกว่า 5% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของคณะกรรมการกิจการยุโรปที่ประเมินว่า จะติดลบ 3.8%

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรีซได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการแก้ปัญหาหนี้สินในประเทศที่ไร้ซึ่งสภาพคล่องแห่งนี้ ขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญระดับเกจิฟันธงว่า งานนี้คงกรีซคงเอาตัวรอดลำบาก เพราะไม่ว่าประเทศไหนหรือเทพเจ้ากรีกชื่อดังจากแห่งหนใดก็ไม่สามารถชี้ทางสว่างเพื่อกอบกู้ศรัทธาของนักลงทุนที่มีต่อยูโรโซนให้กลับคืนมาได้ดังเดิม

อิตาลี...ชวนจีนชิม (บอนด์) สปาเกตตี้กันมั้ย?

อิตาลีเป็นอีกประเทศที่หายใจรดต้นคอกรีซมาติดๆ ในภาวะที่สถานะการคลังสั่นคลอนจนต้องบากหน้าไปหาพญามังกรและอ้อนวอนให้จีนลองชิมพันธบัตรของแดนสปาเกตตี้แทนการซดบะหมี่กวางตุ้งไปพลางๆ

โดยเมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า ทางการอิตาลีได้เข้าพบกับประธานของไชน่า อินเวสต์เมนต์ คอร์ป (ซีไอซี) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานแห่งรัฐเพื่อการกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (SAFE) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนมูลค่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อโน้มน้าวให้จีนลงทุนซื้อในพันธบัตรของอิตาลี

ข่าวความเคลื่อนไหวข้างต้นมีขึ้นในขณะที่อิตาลีกำลังอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน เมื่อหนี้สาธารณะของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรปแห่งนี้จ่อพุ่งสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากกรีซในปีนี้ ขณะที่นักลงทุนก็ไม่มั่นใจในฐานะการคลังของอิตาลีพราะการประมูลพันธบัตรรัฐบาลครั้งนี้ทำให้อิตาลีต้องจ่ายอัตราผลตอบแทนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่เริ่มมีการใช้สกุลเงินยูโรเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

นายแซร์จิโอ มากีโอนเน ซีอีโอของเฟียตได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์นี้ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะลุกลามจนคุมไม่อยู่ ขณะที่กูรูในตลาดเงินมองว่า ตลาดผันผวนก็เพราะนักลงทุนต้องการเห็นการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอิตาลี หรือแม้กระทั่งในยูโรโซน ตลอดจนท่าทีของเยอรมนีกลับแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครที่กุมบังเหียนและเสนอนโยบายของยูโรโซนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย

เยอรมนี...คีย์แมนแห่งอีซีบีไขก๊อกช็อกวงการ (การเงิน)

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กำลังตรากตำอยู่กับปัญหาคาราคาซังในยูโรโซน ไฟแห่งการทำงานที่เคยลุกโชนของนายเจอร์เกน สตาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอีซีบีซึ่งเป็นผู้แทนคนสำคัญของเยอรมนีกลับมอดดับลง จนนำมาซึ่งการประกาศลาออกที่สร้างความโกลาหลต่อตลาดโลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

การลาออกก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปีของนายสตาร์กได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนอย่างมหาศาลในยามที่เยอรมนีกำลังถูกจับตามองในฐานะเสาหลักของยูโรโซนผู้เป็นแกนนำการกอบกู้วิกฤตหนี้ในภูมิภาคดังกล่าว โดยสาเหตุของการสละเก้าอี้มาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการซื้อพันธบัตรที่เปรียบเสมือนอาวุธหลักของอีซีบีผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีซ อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส เป็นมูลค่า 1.35 แสนล้านยูโร

สตาร์ก ผู้เป็นเจ้าของแนวความคิดที่ว่า การแทรกแซงตลาดเป็นสิ่งเลวร้ายในเชิงหลักการนั้น ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่อีซีบีจะใช้เงินทุ่มซื้อพันธบัตรกรีซที่มีภาระหนี้สินอันหนักหน่วง เช่นเดียวกับผลสำรวจชาวเยอรมันมากกว่าค่อนประเทศที่ไม่หลงใหลได้ปลื้มไปกับความใจดีของรัฐบาลเยอรมนีในการใช้ภาษีของประชาชนมาแบกรับภาระหนี้ของประเทศอื่นที่ตนมิได้เป็นผู้ก่อ

ไมค์ เลนฮอฟฟ์ หัวหน้านักกลยุทธ์จากบริษัทเบรวิน ดอลฟิน กล่าวว่า การลาออกของคีย์แมนแห่งอีซีบีครั้งนี้ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับธนาคารและตลาดหุ้น สิ่งใดที่ทำให้อีซีบีอ่อนแอลง สิ่งนั้นไม่ส่งผลดีต่อตลาดแน่ เพราะนั่นกำลังทำลายความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่ออีซีบีและยูโรโซน เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ แคปิตอล ที่ระบุว่า ท่าทีดังกล่าวทำให้ตลาดเริ่มมั่นใจว่าเยอรมนีกำลังหมดศรัทธาต่อยูโรโซน

ฝรั่งเศส...แบงก์พาณิชย์ผวาหลังมูดีส์ลดเครดิต

ภาคธนาคารในแดนน้ำหอมไม่ใช่อะไรที่ชวนดอมดมอีกต่อไป เมื่อหุ้นของธนาคารยักษ์ใหญ่ 3 แห่งของฝรั่งเศสอย่างบีเอ็นพี พาริบาส์ โซซิเอเต เจเนราล (ซอคเจน) และเครดิต อะกริโคล กอดคอร่วงกราวจากข่าวมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ลงมือเชือดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารซอคเจนและเครดิต อะกริโคลไปในวันนี้

การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของกรีซ คือที่มาของสัญญาณอันตรายอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้ธนาคารข้างต้นถูกลดอันดับเครดิต เนื่องจากธนาคารชั้นนำในแดนน้ำหอมถือครองพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนของกรีซถึง 5.67 หมื่นล้านดอลลาร์ ตอกย้ำด้วยข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่ว่า ธนาคารในฝรั่งเศสมีการลงทุนโดยรวมในตราสารหนี้กรีซมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ ซอคเจน ธนาคารรายใหญ่อันดับสองของฝรั่งเศสที่ลงทุนในพันธบัตรกรีซเป็นมูลค่าประมาณ 900 ล้านยูโรประกาศแผนขายสินทรัพย์เพื่อระดมทุนให้ได้ 4 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2556 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร หลังจากมูลค่าของธนาคารลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในเดือนที่แล้ว

แต่ถึงกระนั้นซอคเจนยืนยันว่า ความเสี่ยงของธนาคารต่อหนี้สาธารณะในกรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส และสเปน อยู่ในระดับต่ำและสามารถจัดการได้อีกทั้งธนาคารกำลังมีการลดจำนวนพนักงานลงอย่างมากในหลายประเทศ เช่นเดียวกับผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสที่ออกมาเบรกตัวโก่งว่า ธนาคารฝรั่งเศสไม่ได้ตกอยู่ในความเสี่ยงอะไรทั้งสิ้น และไม่ว่าสถานการณ์ของกรีซจะเป็นเช่นไร ฝรั่งเศสก็รับมือไหวอยู่แล้ว

นานาประเทศ...นานาทัศนะ

ณ เวลานี้ หลายประเทศอาจเริ่มนับถอยหลังการประชุมผู้นำกรีซ ฝรั่งเศส เยอรมนีที่จะเปิดฉากขึ้นในคืนนี้ หลังจากที่วิกฤตหนี้ยูโรโซนได้สร้างความกังวลใจให้กับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการวิ่งรอกเข้าออกประเทศต่างๆของนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ

ล่าสุดขุนคลังแห่งพญาอินทรีมีกำหนดเดินทางเยือนโปแลนด์เป็นเวลา 1 วันในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าพบบรรดารัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศยูโรโซนเป็นครั้งแรก ท่ามกลางความปริวิตกว่า กรีซอาจประสบภาวะล้มละลายและสูญเสียศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเขาได้เอ่ยปากแนะนำให้รัฐมนตรีคลังในยุโรปแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความสับสนในตลาดการเงิน

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ผู้นำกลุ่มประเทศยูโรโซนต้องแสดงให้ตลาดเชื่อมั่นว่า พวกเขาสามารถแก้วิกฤติหนี้ของยุโรปได้ พร้อมทั้งเตือนว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงอ่อนแอไปจนกว่าวิกฤติในยูโรโซนจะได้รับการแก้ไข

ความคิดเห็นของสหรัฐปรากฎออกมาในทิศทางเดียวกับคณะกรรมาธิการอียูที่มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปยังคงเปราะบาง โดยรายงานดังกล่าวบ่งชี้ด้วยว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจอยู่ที่ 83.3% ของจีดีพีในปีหน้า โดยเฉพาะกรีซอาจมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 166.1% ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในยุโรป

ฟากฝั่งผู้นำแห่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีน ก็แสดงความกังวลต่อปัญหายุ่งยากนานัปการที่ยุโรปเผชิญมาเป็นเวลานาน พร้อมย้ำถึงความเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือโดยเพิ่มการลงทุนในยุโรป ตลอดจนสนับสนุนความพยายามของยูโรโซนในการจัดการวิกฤตหนี้สิน แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการขาดดุลงบประมาณและเพิ่มการจ้างงานมากกว่าที่จะหวังพึ่งจีนอยู่ฝ่ายเดียว

...เสียงไซเรนเตือนภัยที่ดังขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติสามารถสร้างความตกใจให้แก่ผู้คนทั่วไปได้ฉันใด เสียงไซเรนเตือนภัยที่ดังขึ้นในยูโรโซนก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนได้ฉันนั้น และไม่ว่าการประชุมผู้นำกรีซ ฝรั่งเศส และเยอรมนีที่ตลาดกำลังจับตามองในคืนนี้จะออกมาในทิศทางไหน เชื่อได้ว่าไซเรนที่ดังแว่วมาแต่ไกลคงมิอาจเงียบดับลงได้ในชั่วข้ามคืน...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ