Analysis: ภาคส่งออกจีนไม่ทรุดหนักซ้ำรอยปี 51 แม้ตลาดโลกเผชิญภัยคุกคามจากยุโรป-สหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 14, 2011 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่ตลาดโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามด้านวิกฤตหนี้สินในยุโรปและสหรัฐ รวมถึงรายงานยอดเกินดุลการค้าที่พุ่งสูงขึ้นของจีนในเดือนส.ค. ความวิตกกังวลที่ว่าจะเกิดภาวะชะลอตัวด้านการส่งออกที่รุนแรงกว่าปี 2551 ก็มีมากขึ้นด้วย

สำนักงานศุลกากรของจีนเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ยอดส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 24.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนส.ค.แตะที่ 1.7331 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 1.775 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากระดับ 3.148 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ค.

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวด้านการส่งออกของจีนจะไม่ดิ่งลงอย่างหนักเหมือนเมื่อปี 2551 เนื่องจากจีนมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งช่วยให้ประเทศมีเกราะป้องกันความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

-- การส่งออกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว

วิกฤตหนี้ยุโรปที่ถลำลึกและการเปิดเผยข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมากขึ้นในสหรัฐทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีกระแสคาดการณ์ว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศจะปรับลดคาดการณ์ด้านการขยายตัว

หนี้ยุโรปรวม 6.16 หมื่นล้านยูโร ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับสองในปีนี้ จะครบกำหนดชำระในเดือนกันยายน โดยตัวเลขหนี้สินที่ครบกำหนดชำระของอิตาลีจะอยู่ที่ 5.43 หมื่นล้านยูโร ขณะที่กรีซกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายด้านการคลังประจำปี 2554 และ 2555 เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งหากปัญหายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง วิกฤตหนี้สินอาจลุกลามไปทั่วทั้งระบบการเงินและอาจทำให้ยุโรปเผชิญวิกฤตการเงินอีกครั้ง

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจะบดบังการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะกับประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก

-- เศรษฐกิจจีนมีเกราะป้องกันความเสี่ยงที่ดีกว่าแต่ก่อน แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ความสามารถในการต้านทานความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนมีความแข็งแกร่งอันเนื่องมาจากเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก หลังผ่านพ้นช่วงเวลา 3 ปีของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปัจจัยหนุนด้านการบริโภคภายในประเทศของจีนที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ปรับตัวสูงขึ้น โดยข้อมูลสถิติระบุว่า การส่งออกมีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.5% ในปี 2550 ก่อนที่จะชะลอตัวลงเหลือ 0.9% ในปี 2553

ประการที่สอง การส่งออกส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในจีนน้อยกว่าเมื่อปี 2551 โดยจำนวนแรงงานชาวจีนมีความสมดุลมากขึ้นและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศขณะนี้สามารถรองรับการจ้างงานได้มากขึ้น

ประการที่สาม กำลังการผลิตที่ล้นตลาดและตัวเลขสินค้าคงคลังของบริษัทจีนอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเมื่อช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก

ประการที่สี่ แผนพัฒนาระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 (ปี 2554 - 2558) ที่เริ่มมีการบังคับใช้ทั่วประเทศจีนนั้นจะทำให้จีนมีความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น การลงทุนของจีนในโครงการใหม่ๆมีการขยายตัวอย่างมั่นคงตั้งแต่ปีนี้

ประการที่ห้า ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากต่างประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนก็จริง แต่ภาคการส่งออกจะไม่ร่วงลงอย่างรุนแรง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่จีนส่งออกนั้นเป็นสินค้าจำเป็น สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ