สภาหอการค้าฯ คาดปัญหาศก.สหรัฐ-ยุโรปกระทบคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรไทย 10-15%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 15, 2011 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสภาพยุโรป ทำให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศไทย ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้ส่งออก ผู้ประกอบการภาคเอกชนและเกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีการชะลอการสั่งซื้อ ได้แก่ ข้าว สับปะรด และกุ้ง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าทั้ง 3 ชนิดของไทย โดยทางสภาหอการค้าไทยแจ้งว่าขณะนี้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรหลายตัวจากไทยชะลอตัวลงประมาณ 10-15%

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่า ตลาดของประเทศจีนและอินเดียน่าจะเป็นทางเลือกและโอกาสที่ดีของสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองการบริโภคของประชากรนับพันล้านคน ซึ่งในแง่ของเกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวในด้านการผลิตเพื่อผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการบริโภคของตลาดทั้ง 2 ประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและผู้ส่งออกก็ต้องปรับกระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้า-ผลิตภัณฑ์ และการตลาดเพื่อให้สอดรับกับรสนิยมและรูปแบบการบริโภคของตลาดเป้าหมาย

ภาคเอกชนและเกษตรกรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันก่อนที่จะเกิดผลกระทบจากการชะลอปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยของตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปมากกว่านี้ ส่วนภาครัฐก็จำเป็นต้องเร่งการเจรจาเพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล รวมถึงผู้ประกอบการและภาคเอกชนกับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้เกิดบรรยากาศทางการค้าและความร่วมมือในการขยายตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีนและอินเดียเพิ่มมากขึ้น

ในวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมกรณีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปร่วมกับนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ผู้ส่งออกข้าวไทย ศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

นายนิวัติ กล่าวว่า ในส่วนของข้าว ซึ่งเมื่อเริ่มโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลจะส่งผลให้ข้าวของไทยในตลาดโลกมีราคาการจำหน่ายมากกว่า 100 เหรียญต่อตัน ซึ่งสูงกว่าประเทศเวียดนาม ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการสต๊อกข้าวที่มีในประเทศ รวมทั้งหามาตรการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และคุมราคาปัจจัยการผลิตไม่ให้สูงจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดปัญหาของราคาข้าวในตลาดได้ ซึ่งในกรณีของการระบายสินค้าแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี หากมีการดำเนินการจำเป็นต้องพิจารณาว่าไทยจะได้ประโยชน์อะไร สินค้าอะไรที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับประเทศที่ไทยต้องการระบายสินค้าออกไป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะต้องหามาตรการรองรับ

ส่วนกรณีความเสียหายที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม คาดว่าข้าวจะได้รับผลกระทบ ประมาณ 10-20%เนื่องจากในภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน เป็นพื้นที่แหล่งผลิตข้าวของประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจนเนื่องจากยังมีภาวะน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ