คลังเตรียมขยายฐานเก็บภาษีนิติบุคคล-เพิ่มภาษีบาป ดันรายได้ปี55ตามเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 15, 2011 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 55 ที่รัฐบาล วางกรอบประมาณการจัดเก็บรายได้ที่ 1.98 ล้านล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากร ที่จะต้องมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ทำให้ต้องมาเน้นการขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น

โดยจากข้อมูลธุรกิจการจดทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์พบว่ามีนิติบุคคลประมาณ 500 แห่ง และมีการเข้าสู่ระบบภาษี 300 แห่ง ดังนั้นอีก 200 แห่ง กรมสรรพากรจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่ายังดำเนินธุรกิจตามปกติหรือไม่ และนำสู่ระบบการจัดเก็บภาษี เนื่องจากมองว่า เมื่อรัฐบาลมีการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงแล้ว น่าจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และไม่น่ามีการหลบเลี่ยงภาษีอีก

"จากข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ มีนิติบุคคลประมาณ 500 แห่ง และมีการจ่ายภาษี300 แห่ง ส่วนที่เหลือก็ต้องไปตรวจสอบว่าล้มหายตายจาก หรือยังทำธุรกิจอยู่ก็ต้องดึงมาเสียภาษี...การลดภาษีนิติบุคคล จะมีผลบังคับใช้ก็น่าจะเป็นช่วงกลางปีหน้า ช่วงแรกก็น่าจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ไปบ้าง แต่เมื่อมีการขยายฐานภาษีก็น่าจะได้ภาษีเพิ่มขึ้น" แหล่งข่าว กล่าว

ในส่วนของกรมกรมสรรพสามิต ได้รับมอบหมายจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 55 จำนวน 460,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบงบประมาณเดิม 50,000 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 54 ที่คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ 391,000 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล ทำให้กรมต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ทั้งการขยายฐานภาษี การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อดึงคนเข้าระบบภาษีเพิ่มมากขึ้น

โดยก่อนสิ้นปี 54 กรมสรรพสามิต จะเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีหลายรายการ เพื่อให้ไปชดเชยรายได้ที่หายไ จากการขยายเวลาการลดภาษีน้ำมันดีเซล และมาตรการคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรก โดยจะเสนอให้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีสุรา ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ ภาษีไวน์ ซึ่งทั้งอียู และ WTO ได้เร่งรัดให้ไทยมีการสร้างความชัดเจนในการสำแดงราคาในการนำเข้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก รวมถึงการขึ้นภาษีรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ ที่อาจเสนอให้มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 5% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 3% รถยนต์ดัดแปลงเพิ่มเป็น 15% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 12% ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ดังกล่าว จะทำให้กรมมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

"ภาษีสุรา หากมีการปรับเพิ่มจะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 8-9 พันล้านบาท ปรับเพิ่มภาษีเบียร์ จะมีรายได้เพิ่ม 8-9 พันล้านบาท และปรับเพิ่มภาษีบุหรี่จะทำให้มีรายได้เพิ่ม 4-5 พันล้านบาท" แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารและการเมือง เพราะบางเรื่องอาจไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ