สศก.เผยกองทุน FTA เร่งเตรียมความพร้อมให้ชาวนาไทยรับมือ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 16, 2011 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้จัดการสัมมนาเรื่อง กองทุน FTA : เพิ่มศักยภาพการแข่งขันข้าวไทยสู่สากล และร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สถานการณ์ แนวโน้ม ทิศทาง สินค้าข้าว” เนื่องจากตระหนักถึงผลกระทบด้านบวกและด้านลบที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะมีผลให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน และทุนได้อย่างเสรี

"การเปิดเสรีการค้าอาเซียนอาจมีการนำเข้าข้าวราคาถูกจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาแข่งขันกับข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศและสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำของรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน รวมทั้งอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันการส่งออกข้าวที่รุนแรงจากประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญอย่างเวียดนาม สหรัฐอเมริกา อินเดีย และปากีสถานอยู่แล้ว" นางนารีณัฐ กล่าว

ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าดังกล่าว และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จึงจำเป็นต้องให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทราบถึงแนวทางการช่วยเหลือของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ หรือ กองทุน FTA ซึ่งที่ผ่านมากองทุน FTA ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้วจำนวน 184.79 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ของกรมการข้าว จำนวน 128.91 ล้านบาท และโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของสหกรณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันข้าวไทยสู่สากล ของสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จังหวัดพิษณุโลก สหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด จังหวัดสุโขทัย และสหกรณ์การเกษตรเมืองพิจิตร จำกัด จังหวัดพิจิตร จำนวน 55.88 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เกษตรกรนำไปใช้เพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต

สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีความสนใจจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเกษตรผู้ผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า สามารถขอรับการสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรได้เช่นเดียวกัน โดยจัดทำเป็นโครงการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพและแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนการปรับเปลี่ยนการผลิตจากสินค้าที่ไม่มีศักยภาพสู่สินค้าที่มีศักยภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ