รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดเผยมาตรการบางส่วนในการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกระลอกในปีหน้า
หนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์รายงานว่า มาตรการดังกล่าวประกอบไปด้วย นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะเพิ่มการใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภค มาตรการจูงใจทางการคลัง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางลงเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายและเกิดการขยายตัวด้านธุรกิจในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคเป็นหลัก
ธนาคารได้เรียกร้องให้ผู้ส่งออกและเจ้าหนี้ในประเทศขนเงินทุนในต่างประเทศเข้ามาเก็บไว้ในบัญชีธนาคารในประเทศ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้มีกระแสเงินหลั่งไหลเข้าประเทศกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินรูเปียห์ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพคล่องในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเมื่อเกิดวิกฤต ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่สกุลเงินต่างประเทศเสื่อมค่าลง
นายฮาร์ตาดิ เอ. ซาร์โวโน รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียเผยว่า ในเดือนนี้ ธนาคารกลางนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้แล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อใช้แทรกแซงตลาดด้วยการซื้อเงินรูเปียห์ในช่วงที่นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์อินโดนีเซียเพื่อแปลงผลกำไรให้อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้ขณะนี้เงินทุนสำรองเหลืออยู่ 1.22 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 1.246 แสนล้านดอลลาร์เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา
ธนาคารกลางวางแผนว่าจะยังคงเข้าไปดำเนินนโยบายในตลาดต่อไปหากจำเป็น โดยใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเข้าแทรกแซงโดยตรง ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลทั้งโดยการดำเนินงานในตลาดรูเปียห์และการประมูลโดยใช้สกุลเงินต่างประเทศ" นายเอ. ซาร์โวโนกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเหลือ 6.5% ในปีหน้า จากปีนี้ซึ่งคาดว่าจะเติบโตที่ 6.6% ขณะที่รัฐบาลพิจารณาว่า เป้าหมายการขยายตัวที่เหมาะสมที่สุดในปีหน้าคือ 6.7% สำนักข่าวซินหัวรายงาน