กสิกรฯ ประเมินอุทกภัยปีนี้หนักกว่าปีก่อน คาดราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นถึงกลางปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 19, 2011 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสียหายในเบื้องต้นของเหตุการณ์อุทกภัยต่อภาคเกษตรกรรมอาจมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าความเสียหายในภาคเกษตรกรรมในช่วงไตรมาส 3/54 มูลค่าความเสียหายประมาณ 8,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีภาคเกษตร(ณ ราคาปีปัจจุบัน)ในช่วงไตรมาส 3/54 ลดลงเหลือร้อยละ 11.1 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.7 หรืออัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 2.6

แต่มูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่จะไปปรากฏในช่วงไตรมาส 4/54 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตร เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/54 เป็นช่วงต้นฤดูการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ดังนั้น คาดว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีภาคเกษตรทั้งปี 2554 ลดลงเหลือร้อยละ 21.4 จากเดิมที่คาดว่าในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 22.7 หรืออัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 1.3

แม้ความเสียหายอาจคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.3 ของจีดีพีภาคเกษตรทั้งปี แต่ก็นับว่าเป็นความเสียหายที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับในปี 2553 ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการรายงานความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า และราคาของสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า

"ภาวะอุทกภัยในช่วงปี 2554 มีแนวโน้มรุนแรง และขยายวงกว้างกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่ผลกระทบภาวะอุทกภัยรุนแรงที่สุดตั้งแต่มีการรายงานความเสียหายจากภาวะอุทกภัย รวมทั้งในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายระลอก จากอิทธิพลของทั้งพายุโซนร้อนนกเตน และอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ภาวะน้ำป่า ดินโคลนถล่ม และภาวะน้ำหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรม ทั้งในด้านพืชโดยเฉพาะข้าว ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยปัจจุบันรายงานพื้นที่ที่คาดว่าได้รับความเสียหายนั้นมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากในปี 2554 นั้นภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติประมาณ 1 เดือน กล่าวคือ ในปี 2554 เกิดปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เทียบกับในปี 2553 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายเดือนกันยายน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ อิทธิพลของพายุโซนร้อนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสียหายให้กับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยในบางพื้นที่อาจจะเกิดปัญหาอุทกภัยระลอกใหม่ ทำให้มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงกว่าในปี 2553 กล่าวคือ ภาวะน้ำท่วมในช่วงไตรมาส 3/54 เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบ 2 และเริ่มปลูกข้าวนาปีในบางพื้นที่ ส่งผลให้ในบางพื้นที่ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำ หรือต้องปลูกซ่อม/เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่าความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 นี้อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถ้าในช่วงไตรมาส 4/54 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ยังต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับในปี 2553

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลผลิตด้านพืชที่คาดว่าจะเสียหายมาก ได้แก่ ข้าว โดยเฉพาะข้าวนาปรังรอบ 2 ที่ผลผลิตจะต้องเก็บเกี่ยวได้ประมาณปลายเดือนกันยายน แต่ในปีนี้ภาวะฝนที่ตกหนัก และน้ำหลากเร็วกว่าปกติประมาณ 1 เดือน ทำให้ชาวนาต้องเร่งเก็บข้าวหนีน้ำ ทั้งที่ข้าวยังไม่แก่จัด(เมล็ดข้าวยังไม่เต็มเมล็ดหรือข้าวน้ำนม) เมล็ดข้าวที่ได้ไม่มีคุณภาพ ไม่มีน้ำหนัก เมล็ดลีบแบน ทำให้ขายข้าวได้เพียง 3,000-4,000 บาท/ตันเท่านั้น จากที่ควรขายได้ 8,000 บาท/ตันขึ้นไป(ขายได้ต่ำกว่าราคาตลาด เนื่องจากความชื้นสูงถึง 28-30% จากที่ความชื้นปกติอยู่ที่ระดับ 15%)

นอกจากนี้ ชาวนาบางส่วนไม่สามารถเกี่ยวข้าวได้ทันทำให้ข้าวต้องเสียหาย ซึ่งวงการค้าข้าวประเมินว่าผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ที่เสียหายประมาณ 500,000 ตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 300,000 ตันข้าวสาร ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมดในปี 2554

ส่วนพืชไร่ โดยพืชที่ได้รับความเสียหายส่วนมากจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับพืชสวน พืชที่ได้รับความเสียหายส่วนมากจะเป็นกล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า

ด้านปศุสัตว์ รายงานความเสียหายด้านปศุสัตว์ในช่วง 28 กรกฎาคม-15 กันยายน 2554 เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 82,094 ราย ปศุสัตว์ที่คาดว่าจะเสียหายส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปีก (โดยเฉพาะไก่เนื้อ) และสุกร

ด้านประมง ส่วนใหญ่ผลผลิตที่เสียหายเป็นสัตว์น้ำจืด โดยเฉพาะปลาน้ำจืด เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่สำคัญของประเทศ รายงานความเสียหายด้านประมงในช่วง 28 กรกฎาคม-15 กันยายน 2554 เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 51,057 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 55,412 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นบ่อปลา ส่วนการเพาะเลี้ยงในลักษณะกระชัง/บ่อซิเมนต์ได้รับความเสียหาย 75,161 ตารางเมตร

สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 2555 โดยมีแรงหนุนเดิมจากความต้องการของทั้งตลาดในประเทศและในตลาดโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่วนประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญของโลก ผลผลิตเกษตรเสียหายจากภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งแรงหนุนจากนโยบายรับจำนำข้าวที่ส่งผลให้ราคาข้าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย แม้ว่าความกังวลต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯและยุโรปจะส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลง แต่คาดว่าจะส่งต่อสินค้าเกษตรน้อยกว่าสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ