นายชวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินการลงทุน บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย(SCC)กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"กลยุทธการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศสู่ความเป็นหนึ่งในอาเซียน-จีน"ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าลงทุนในอาเซียน เนื่องจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ลดลง
ผู้ประกอบการที่จะเข้าลงทุนในอาเซียนควรให้ความสำคัญในการศึกษาถึงวัฒนธรรม สังคม ของประเทศที่จะเข้าลงทุน เพราะแต่ละประเทศมีสภาพสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น แนะนำให้ผู้ประกอบการควรต้องปรับตัวในด้านของบุคลากรที่ควรปรับทัศนคติคนในองค์กรให้รู้สึกอาเซียนเป็นเสมือนบ้านหรือประเทศของตนเอง มองเป็นบริษัทของอาเซียน ไม่ใช่ของคนไทย และควรจ้างบุคลากรจากหลายประเทศเข้าร่วมทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อสร้างคุณค่าและจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง
"ผมอยากให้มองอาเซียนเป็นประเทศ คนจะได้สนใจเข้าลงทุน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะเมื่อเกิด AEC แล้ว ประเทศอื่นก็เข้ามาประเทศเราได้ด้วย เราก็ต้องปรับตัวให้ดี ส่วนการที่เราจะออกไปประเทศอื่น สิ่งสำคัญคือสร้างความสำคัญกับคนในท้องถิ่น"นายชวลิต กล่าว
สำหรับการลงทุนในประเทศจีนถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากเพราะจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตได้ดี แต่คู่แข่งจะมีมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ก่อนการลงทุนในจีนจะต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดี เนื่องจากจีนจะให้ความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์เป็นอย่างมาก
นายเจน นำชัยสิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิด AEC มองว่าเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรคสำหรับนักลงทุนไทย เนื่องจากตลาดมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเช่นกัน
ทั้งนี้ แนะให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ให้ความสำคัญกับจีน Economy เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และการรวมตัว หรือจับคู่ทางธุรกิจเพื่อนำจุดเด่นแต่ละบริษัทมาใช้ร่วมกัน
"เมื่อเกิด AEC แล้ว 1+1 จะไม่ใช่แค่ 2 เพราะแต่ละประเทศจะมีจุดเด่นที่ต่างกัน เราก็ควรนำจุดเด่นมาผสมกัน ภาพรวมมองว่าเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค ดังนั้นธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญของการลงทุนและธุรกิจบริการ เพราะถือเป็นจุดเด่น" นายเจน กล่าว
ด้านนายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการไทยหลายรายที่เข้าลงทุนในจีนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเน้นไปที่การทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการศึกษาวัฒนธรรมสังคมในจีนให้ดีพอ เพราะสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในจีนคือการสร้างความสัมพันธ์ในระดับร่วมสาบานกับคนในท้องถิ่น เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น
"การค้ากับจีนตอนนี้จะเริ่มเห็นช่องว่างมากขึ้น ออเดอร์เล็กๆ จีนจะไม่ทำ ถือเป็นโอกาสที่ดีของเรา เพราะไทยได้เปรียบหลายประเทศ เพราะมีทำเลที่ตั้งที่ดี ผู้ประกอบการหลายรายมีประสิทธิภาพ" นายพิษณุ กล่าว