ข่าวสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลง 1 ขั้นเมื่อวานนี้ ทำให้นักลงทุนในตลาดมีความรู้สึกไม่มั่นใจในเสถียรภาพและสถานะทางการเงินของรัฐบาลอิตาลีเป็นอย่างมาก และยังเพิ่มน้ำหนักให้กับการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจอิตาลีอาจจะย่ำแย่ลงอีก
การลดอันดับความน่าเชื่อถืออิตาลีโดยเอสแอนด์พีนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อิตาลีกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ผันผวน ขณะเดียวกันปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในอิตาลียังสร้างความวิตกไปทั่วยุโรป รวมทั้งสกุลเงินยูโรที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับค่าเงินหลักๆ อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซน จะลุกลามไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค
เอสแอนด์พีกล่าวในรายงานเมื่อวานนี้ว่า "แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิตาลีกำลังอ่อนแอลง ขณะที่ภาวะเปราะบางของพรรคร่วมรัฐบาลและความคิดเห็นที่แตกต่างด้านนโยบายภายในรัฐสภา จะยังคงจำกัดศักยภาพของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ เอสแอนด์พีระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เอสแอนด์พีตัดสินใจลดเครดิตของอิตาลีในครั้งนี้มาจาก "การขาดเจตนารมณ์ทางการเมือง" ในการแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะ และความเป็นไปได้ที่ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวไม่ถึงระดับที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้และปีหน้า
หลังจากเอสแอนด์พีประกาศลดอันดับเครดิตอิตาลีได้ไม่นาน รัฐบาลอิตาลีก็ออกมาตอบโต้ทันทีว่า การตัดสินใจของเอสแอนด์พีในครั้งนี้มาจากแรงจูงใจทางการเมือง และที่แย่กว่านั้นคือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อิตาลีพยายามสยบกระแสความตื่นกลัวของนักลงทุนที่ว่า อิตาลีอาจจะผิดนัดชำระหนี้
รัฐบาลอิตาลีออกแถลงการณ์ว่า เอสแอนด์พีตัดสินอิตาลีจากรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ มากกว่าความจริงที่ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดมูลค่า 5.4 หมื่นล้านยูโรซึ่งรัฐสภาอิตาลีได้อนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะคุมเข้มการใช้จ่ายในอนาคตและจะทำให้งบประมาณของรัฐบาลมีความสมดุลภายในปี 2556
"ดูเหมือนว่าการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีจะเป็นการประเมินจากรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น มากกว่าที่จะประเมินจากข้อมูลที่แท้จริง เห็นได้ชัดว่าบทสรุปของเอสแอนด์พีมีการเมืองแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง" รัฐบาลอิตาลีกล่าว
ขณะที่ทางเอสแอนด์พีก็ออกมาตอบโตด้วยแถลงการณ์สั้นๆว่า อันดับความน่าเชื่อที่ให้กับอิตาลีนั้น "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแน่นอน"
แม้ตลาดหุ้นอิตาลีดีดตัวขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากข่าวความคืบหน้าของกรีซ แต่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ยังคงทำให้เกิดความวิตกกังวลในตลาดการเงินว่า อิตาลีอาจจะเป็นประเทศต่อไปที่จะติดบ่วงแร้วของวิกฤตหนี้ในยุโรป
ฆาเวียร์ โนริเอกา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากวาณิชธนกิจฮิลเดอแบรนท์ แอนด์ เฟร์ราร์ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "รัฐบาลอิตาลีทำดีที่สุดแล้วที่ออกมาแย้งว่ามีประเด็นการเมืองอยู่เบื้องหลังการลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ แต่นักลงทุนยังคงเชื่อว่าน่าจะมีองค์ประกอบอื่นๆที่อยู่เบื้องหลังการลดอันดับในครั้งนี้"
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า เอสแอนด์พีจะลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลงอีกภายใน 12-18 เดือนนี้ หากรัฐบาลอิตาลีไม่สามารถฉุดตัวเลขหนี้สินโดยรวมให้ต่ำลงจากระดับปัจจุบันที่ 120% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงเป็นอันดับ 2 ในสภาพยุโรป (อียู) รองจากกรีซ ซึ่งหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้ต้นทุนในการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรของอิตาลีสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะทำให้อิตาลีไม่สามารถดิ้นหลุดจากบ่วงหนี้ได้ในท้ายที่สุด
บทวิเคราะห์โดย เอริค เจ ลีแมน จากสำนักข่าวซินหัว