การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สมัยที่ 66 เปิดฉากอย่างเป็นทางการที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันอังคารที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โดยนายนัสเซอร์ อับดูลาซิส อัล นัสเซอร์ นักการทูตอาวุโสจากกาตาร์ในฐานะประธานการประชุม ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ การปฏิรูปยูเอ็นเพื่อให้เท่าทันปัญหาทั่วโลกในปัจจุบัน การยกระดับการป้องกันและรับมือภัยพิบัติ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิกทั้ง 193 ชาติหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาต่างๆ และสำหรับวันที่ 21-27 กันยายนนี้ จะมีการเปิดอภิปรายทั่วไปในหลายประเด็น ซึ่งประเด็นที่น่าจะจับมองมีดังนี้
ประเด็นสำคัญที่กำลังอยู่ในห้วงความคิดและสร้างความวิตกกังวลให้กับทั่วโลกในตอนนี้คงหนีไม่พ้นวิกฤตหนี้สินยูโรโซน ซึ่งเปรียบเหมือนโรคร้ายที่กำลังลุกลามกัดกินไปทั่วร่างกาย และแม้จะรักษาด้วยยาหลายขนานก็ยังไม่หายขาด แต่ก็ต้องพยายามรักษากันต่อไป
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการเสนอแนวทางเยียวยาที่จุดประกายความหวังทั่วโลก โดยธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ 5 แห่งของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ผนึกกำลังอัดฉีดสภาพคล่องในรูปสกุลเงินดอลลาร์เข้าสู่ภาคธนาคารของยุโรป ด้วยการปล่อยเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนเป็นเวลา 3 เดือนจนถึงช่วงปลายปีนี้
ต่อมารัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประชุมร่วมกันที่ประเทศโปแลนด์เมื่อวันศุกร์ ซึ่งหลายฝ่ายตั้งความหวังว่าจะมีการประกาศแนวทางเยียวยารักษาต่อเนื่อง แต่สุดท้ายกลับมีแค่การแสดงทรรศนะซ้ำๆแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า ผู้นำยุโรปจำเป็นต้องมีความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ โดยไม่ได้มีการประกาศมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
หลังจากนั้นนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซ ซึ่งเป็นประเทศที่อาการโคม่าสุดและมีแววว่าอาจผิดนัดชำระหนี้ ได้ประกาศยกเลิกกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐและเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นในวันเสาร์ที่ 17 กันยายน เนื่องจากกังวลเรื่องสถานการณ์ความไม่แน่นอนของปัญหาหนี้สินในประเทศ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าวิกฤตหนี้สินในกรีซรวมถึงยุโรปมีความรุนแรงเพียงใด
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทำเนียบขาวของสหรัฐเผยว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้หารือกันทางโทรศัพท์เกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และเห็นชอบว่าจำเป็นต้องมีการใช้มาตรการร่วมกันเพื่อจัดการปัญหาในเร็วๆนี้ นับเป็นการหารืออีกครั้งหนึ่งที่ไม่อะไรเป็นรูปธรรม และแทบไม่แตกต่างจากที่เคยพูดหลายครั้งแล้ว
ถึงกระนั้นโลกก็ไม่เคยละทิ้งความหวัง โดยล่าสุดทั่วโลกต่างตั้งความหวังไปที่การประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น โดยในวันนี้ประธานาธิบดีโอบามาจะเดินทางไปยังนิวยอร์กเพื่อร่วมการประชุม และจะหารือกับบรรดาผู้นำจากหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น ในประเด็นวิกฤตหนี้สินยุโรปและประเด็นอื่นๆ
แม้บทเรียนที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า การหารือน้อยครั้งนักที่จะมีการประกาศมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ถึงกระนั้นทั่วโลกก็ยังตั้งตารอการพบกันของบรรดาผู้นำในครั้งนี้ และยังหวังว่าจะมีอะไรที่เป็นรูปธรรมแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น เปิดเผยรายละเอียดกรณีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมกับขอให้ผู้นำญี่ปุ่นนำบทเรียนที่ได้รับมาถ่ายทอดให้กับผู้นำชาติต่างๆ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายนนี้
นายโนดะที่เพิ่งดำรงตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม เคยประกาศว่าสิ่งที่ต้องเร่งทำก่อนเรื่องอื่นๆ คือลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ และฟื้นฟูประเทศหลังประสบวิกฤตนิวเคลียร์ แต่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายโนดะมีนโยบายแตกต่างจากอดีตนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ที่ต้องการลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ โดยในร่างสุนทรพจน์ของนายโนดะระบุว่า เขาจะเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ญี่ปุ่นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และให้คำมั่นว่าจะรักษาความปลอดภัยในการทำงานระดับสูงสุด พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งจะพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน แต่ไม่มีการยืนยันว่าจะลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์แต่อย่างใด
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ ประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างหวั่นเกรงและเข็ดขยาดในอานุภาพของนิวเคลียร์ จนบางส่วนออกมาเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่บางส่วนถึงขั้นเรียกร้องให้เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นกว่า 60,000 ชีวิต ได้ออกมาชุมนุมตามท้องถนนในกรุงโตเกียว เพื่อเรียกร้องให้รัฐทบทวนนโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะการอาศัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่ผู้นำประเทศสวนกลับอย่างเจ็บปวดว่า จะไม่ปิดกั้นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต
ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้นำจากหลายชาติในวันพฤหัสบดีนี้ หากผู้นำญี่ปุ่นไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ คะแนนนิยมของนายโนดะในหมู่ชาวญี่ปุ่นอาจดิ่งลงอย่างรวดเร็ว และอนาคตทางการเมืองอาจดับวูบลงได้ง่ายๆ
ประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส ของปาเลสไตน์ ประกาศกร้าวว่าปาเลสไตน์จะยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการเพื่อขอเป็นสมาชิกยูเอ็นลำดับที่ 194 ในวันศุกร์ที่ 23 กันยายนนี้ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะ “รัฐปาเลสไตน์" หลังจากที่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ดำเนินมาอย่างยาวนานและไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด
ประธานาธิบดีอับบาสจะยื่นเรื่องเข้าที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเป็นเวทีแรก ซึ่งหากได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 9 เสียงจาก 15 ชาติสมาชิก โดยไม่มีสมาชิกถาวรประเทศใดใช้สิทธิยับยั้ง หรือ “วีโต้" ปาเลสไตน์ก็จะได้เป็นสมาชิกยูเอ็น แต่โชคร้ายที่สหรัฐซึ่งถือหางอิสราเอล ประกาศว่าจะวีโต้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ปาเลสไตน์ยังสามารถยื่นเรื่องต่อสมัชชาใหญ่ยูเอ็นได้อีกหนึ่งเวที ซึ่งในเวทีนี้ปาเลสไตน์จะขอให้ยูเอ็นรับรองในฐานะ “รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก" (Non-member observer state)
หากปาเลสไตน์ได้เป็นสมาชิกยูเอ็นสมปรารถนา ปาเลสไตน์สามารถฟ้องศาลโลกเพื่อให้อิสราเอลมอบดินแดนที่ยึดครองไปคืนให้กับปาเลสไตน์ได้ การเดินเกมรุกของผู้นำปาเลสไตน์จึงถูกต่อต้านอย่างหนักจากอิสราเอล โดยทางอิสราเอลอ้างว่าเป็นการข้ามขั้นตอนที่ระบุว่า การตั้งรัฐเอกราชปาเลสไตน์ต้องเกิดขึ้นหลังทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลแล้วเท่านั้น ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนยามิน เนตันยาฮู ของอิสราเอล เย้ยว่าความพยายามของปาเลสไตน์ไม่มีวันสำเร็จ และปาเลสไตน์ต้องขอรื้อฟื้นการเจรจากับอิสราเอลในที่สุด ทั้งนี้ ผู้นำอิสราเอลจะกล่าวถึงประเด็นนี้ต่อที่ประชุมยูเอ็นในวันที่ 23 กันยายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้นำปาเลสไตน์จะยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกยูเอ็น
นอกจากอิสราเอลแล้ว ปาเลสไตน์ยังต้องท้าชนกับพี่เบิ้มอย่างสหรัฐซึ่งเป็นก้างขวางคอชิ้นโต โดยสหรัฐยืนกระต่ายขาเดียวว่าการเจรจาโดยตรงเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่รัฐปาเลสไตน์ที่แท้จริงได้ ทั้งที่เห็นอยู่ว่าการเจรจาโดยตรงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้น ซึ่งการเจรจาล่าสุดหยุดชะงักมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนั้นวุฒิสภาสหรัฐยังยุให้ประธานาธิบดีโอบามาประกาศหนุนอิสราเอลในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อยูเอ็นวันนี้ ตัดหน้าปาเลสไตน์ที่จะยื่นเรื่องในวันศุกร์
อย่างไรก็ดี มหาอำนาจขั้วตะวันออกอย่างจีนได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนปาเลสไตน์ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ของทางการจีนเตือนว่า หากสหรัฐใช้สิทธิยับยั้งความพยายามของปาเลสไตน์ในการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็น จะยิ่งสร้างความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันประชาคมโลกส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ โดยการสำรวจความเห็นประชาชน 20,446 คน ใน 19 ประเทศซึ่งจัดทำโดยบีบีซีเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 49% เห็นว่ารัฐบาลของตนควรออกเสียงสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นสมาชิกยูเอ็น และขณะนี้สมาชิกยูเอ็นราว 127 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศ ยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐอิสระแล้ว
ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นกล่าวเปิดการประชุมว่า “การประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาคมโลกพิสูจน์ว่า เรามีความกล้าหาญ มีสติปัญญา และมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาอย่างมีความคิดและสร้างสรรค์" เราก็ได้แต่หวังว่าบรรดาผู้นำซึ่งเป็นตัวแทนของชาติต่างๆ จะทำตามและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ชื่นใจกันเสียที