นายคณิต แสงสุพรรณ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษบกิจไทยในปีนี้เหลือ 4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.5% เนื่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มน่าจะแย่กว่าช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ส่วนปี 55 ยังคงคาดการณ์ GDP ของไทยที่ 4.5% แต่ก็มีโอกาสปรับลดลงได้หากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปกลายเป็นเรื่องใหญ่ หลังจากเกิดการลุกลามไปถึงอิตาลีแล้ว และยังไม่มีความว่าชัดเจนใครเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลของอิตาลีไว้บ้าง ซึ่งแตกต่างจากกรณีของกรีซที่ธนาคารในฝรั่งเศสออกมายอมรับการถือครองพันธบัตรจนนำไปสู่การถูกปรับลดความเชื่อถือ
ส่วนปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐกลับดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับปัญหาในยุโรป แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามาตรการกระตุ้นการจ้างงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มูลค่ากว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสหรือไม่
นายคณิต มองว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกคงจะกระทบกับการส่งออกของไทยไม่มาก แต่อาจจะกระทบในภาคการเงินมากกว่า ซึ่งปัญหาในยุโรปจะทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงและเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น แต่หากช่วงใดเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่า ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับประเทศ จึงเป็นหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม
นอกจากนั้น ยังมีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แม้ว่าดอกเบี้ยในสหรัฐและยุโรปยังอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ส่วนนี้จะมีผลต่อเงินไหลเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม มองว่าจากการที่รัฐบาลพยายามวางนโยบายสร้างฐานรายได้ของประเทศ ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูแลการขยายตัวของการส่งออกให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งระมัดระวังเรื่องกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศออกมาทั้งบ้านหลังแรก รถคันแรก น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้บ้าง
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือโครงการรับจำนำข้าว เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต้องใช้เม็ดเงินรับประกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในปีงบประมาณ 54-55 รัฐบาลชุดก่อนได้ตั้งงบประมาณในการประกันราคาข้าวชัดเจนที่ 4-5 หมื่นล้านบาท