ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองมาตรการบ้านหลังแรกส่งผลอสังหาฯคึกคัก-แบงก์แข่งเดือด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2011 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก และราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5,000,000 บาท จะส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ก่อนหน้านี้ชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีที่อยู่อาศัยเหลือขายและที่กำลังจะสร้างเสร็จ โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีระยะเวลาสร้างรวดเร็วกว่าโครงการแนวสูง

ผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มจำนวนจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีซื้อบ้านหลังแรกจะต้องเป็นผู้มีเงินได้ 23,333 บาทต่อเดือนขึ้นไป ภายใต้เงื่อนไขผู้มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี ในขณะที่ผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องชำระภาษี จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังจำกัดกลุ่มผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้อยู่ในฐานภาษี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาภ.ง.ด. 90 และ 91 ประมาณเกือบ 10 ล้านคน แต่มีผู้ที่ยื่นแบบและเสียภาษีประมาณ 2.1 ล้านคน ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวยังไม่รวมถึงบ้านมือสอง และบ้านปลูกสร้างเอง ซึ่งคนที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดนิยมปลูกสร้างบ้านเองจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ อีกทั้งยังไม่ให้สิทธิผู้มีเงินได้ที่เคยเป็นผู้ที่กู้ร่วมและใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ที่จะได้รับประโยชน์นั้นหดแคบลง

แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2554 นี้ ตลาดคงจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรง โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คงจะเร่งทำการตลาด ออกแคมเปญที่จูงใจ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการกระตุ้นด้านสิทธิประโยชน์ภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ จะเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการจะเร่งระบายบ้านที่เหลือขายสะสมอยู่ในมือออกไป และจะเป็นช่วงที่ดีของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ มาตรการบ้านหลังแรกไม่เพียงแต่จะมีผลในการกระตุ้นธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการแข่งขันของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยเช่นกัน เพราะมาตรการในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่นมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ผ่านมา ที่รัฐบาลได้กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ

การที่มาตรการให้มีผลครอบคลุมไปถึงบ้านระดับราคาสูงสุดถึง 5,000,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ ทำให้คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้การแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงมีความเข้มข้นขึ้น โดยยังคงเน้นการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกลยุทธ์การตลาดน่าจะยังคงเป็นกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.0 เป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังคงจะต้องแข่งขันด้านราคา เพราะแม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคาเพียงใด แต่เมื่อปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็คงจะหาสถาบันการเงินที่เสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้แก่ลูกค้าของตน ทำให้สถาบันการเงินต่างคงจะต้องคิดกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เพื่อรักษาฐานลูกค้าของตน

สำหรับแนวโน้มยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 4/54 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวเนื่องจากมีการปรับข้อมูลใหม่ในปี 2553 โดยคาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ จะมีประมาณ 2,034,000-2,052,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5-8.5 ชะลอลงจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 10.5 ในปี 2553

อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี 2554 ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 19 ตุลาคม และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 นี้ นับจากช่วงต้นปี 54 กนง.ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 6 ครั้ง มีผลทำให้สถาบันการเงินต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยขึ้นตามมา ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยคงจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ