ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวที่มาร่วมกันสะท้อนมุมมองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะภายหลังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะมีผลในปี 2558 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยมีการตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 30 ล้านคน และเป้ารายได้ที่ 2 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวทำได้แต่ค่อนข้างยากหากอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มีการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง
นางกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ดิเอราวัณ (ERAWAN) กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่ออกจากบ้าน ไปถึงสนามบิน และต้องไปอยู่ที่เมืองหนึ่งที่ไม่คุ้นเคย ทุกเหตุการร์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อความปลอดภัย เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็กระทบความปลอดภัย สมัยที่มีซาร์ส H1N1 ภัยธรรมชาติๆ แต่เรื่องเหล่านี้คนยอมรับได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าที่ไหนในโลก แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างบั่นทอนทางจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยว และกระทบต่อทุกๆภาคส่วน ทำอย่างไรที่จะดูแลเรื่องนี้ คงไม่ใช่หน้าที่กระทรวงท่องเที่ยวฯ
"ต้องมีเจ้าภาพที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ น่าจะเป็นกระทรวงอื่นๆ ร่วมมือกันทำให้นักท่องเที่ยวสบายใจ" นางกมลวรรณ กล่าว
ขณะที่นายชิดชัย สาครบดี อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า เป้ารายได้ 2 ล้านล้านบาทเป็นไปได้ แต่ค่อนข้างยาก เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไม่มีการบูรณาการ การจะทำให้นักท่องเที่ยวโตจาก 16 ล้านคนกระโดดไปเป็น 30 ล้านคนใน 4 ปีเป็นเรื่องใหญ่
"ถ้าเราไม่มีผู้นำทัพ ต้องมีบุคคลระดับประเทศให้ความสนใจจริงๆ ต้องมีแม่งานเข้ามาทำให้เกิดการบูรณาการจริงจัง ตอนที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น รมว.คลัง จับภาครัฐและเอกชนทุกหน่วยงานทางด้านการท่องเที่ยวมาไว้รวมกัน ทำงานร่วมกัน เวลานี้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้โชคร้าย กระทรวงที่รับผิดชอบขาดศักยภาพ ไม่สามารถบังคับ ขอร้อง ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร"
"เป้า 2 ล้านล้านบาทที่เราตั้ง ถ้าไม่มีเจ้าภาพมาบูรณาการ พวกเราที่เป็นคนในอุตสหกรรมนี้โชคร้าย กระทรวงนี้ขาดศักยภาพ ไม่สามารถสั่งการ บังคับ ขอร้อง หน่วยงานต่างๆ ไม่ให้ความร่วมมือ รัฐอยากได้ 2 ล้านล้านบาท เอกชนพร้อมร่วมมือแต่ติดขัดเรื่องการทำงาน อยากให้มีเจ้าภาพใหญ่จับพวกเรามาไว้ในมุ้งเดียวกัน มานั่งแก้ไขและจัดการปัญหาด้วยกัน"นายชิดชัยให้มุมมอง
สำหรับนายนิตินัย ศิริสมรรถการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในฐานะประตูหน้าด่านของประเทศไทย กล่าวว่า เป้ารายได้ 2 ล้านล้านบาท คือ ปริมาณคูณด้วยค่าใช้จ่ายต่อหัว หลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หลายประเทศจนลง ประเทศที่เคยเป็น 60% ของจีดีพีโลกจนลง วิกฤตเศรษฐกิที่กำลังเกิดขึ้นกับยุโรปและสหรัฐ ก็ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้เริ่มกังวลเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ขั้วเศรษฐกิจเปลี่ยนมาเป็นทางโซนเอเซีย ดูง่ายๆจากตัวเลขการท่องเที่ยว 8 เดือนแรกของปีนี้ อังกฤษติดลบ เยอรมันติดลบ แต่จีน เกาหลีกลับโตขึ้น พฤติกรรมและอุปนิสัยการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันทำให้เราต้องปรับตัว
"ที่จะบอกคือเรื่องปริมาณมี แต่เราต้องบริหารจัดการเรื่อง Spending per Head ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมีความสุข ต้องมี Activity ตอบสนองให้เกิดความสำเร็จ ตัวเลขต่างๆจะเกิดต้องมีการบูรณาการ ประเทศไทยมีความพร้อมทุกอย่างแต่ต้องบูรณาการ"
ส่วนนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า เป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท ผมเชื่อมั่นว่ามี Demand ตลาดแน่นอน แต่ทำได้หรือไม่เป็นอีกคำตอบหนึ่ง เพราะถ้าเราทำๆอย่างที่ผ่านมา ผมไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ ต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาบวกลบคูณหาร ที่ผ่านมาขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน แต่ถ้าเราจะก้าวกระโดดเราจะทำแบบเดิมไม่ได้ ทุกครั้งเวลาวางแผนการท่องเที่ยว เราวางแผนสำหรับการ Growth 5-6% แต่ตอนนี้เราจะ Growth ก้าวกระโดด ต้องมีเป้าหมาย และแผนงานที่ชัดเจน และต้องมีแกนหลักที่จะทำให้ Synergy นี้เกิด
"ถามว่า 2 ล้านล้านบาท ผมเชื่อว่าตลาดมี แต่จะทำได้หรือไม่ ถ้าคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคิดใหม่ทำใหม่และจริงจังต่อเป้าหมาย ทำได้ครับ"นายโชคชัย กล่าว