นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนส.ค.54 ว่า การส่งออก ขยายตัว 31.1% คิดเป็นมูลค่าถึง 21,567 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 44% คิดเป็นมูลค่า 22,770 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนส.ค.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 1,203 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.54) ขยายตัว 26.4% คิดเป็นมูลค่า 158,066 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 28.5% คิดเป็นมูลค่า 153,025 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังคงเกินดุลการค้าราว 5,040 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนส.ค.54 พบว่ามีการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มสินค้าเกษตรขยายตัวถึง 64.3% สินค้าสำคัญ เช่น ข้าว ขยายตัว 67%, ยางพารา ขยายตัว 69.6%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 81.3% และสินค้าอาหาร ขยายตัว 43.2%
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 16.5% สินค้าสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 65%(ทองคำ ขยายตัว 364.1%) เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 34.3% วัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 32.4% สิ่งทอ ขยายตัว 11.7%
ส่วนตลาดส่งออกขยายตัวทุกกลุ่มตลาด โดยตลาดหลัก(Matured Market) ส่งออกเพิ่มขึ้น 17.9% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากตลาดยุโรป 26.7% และตลาดญี่ปุ่น 25.5% ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวเพียง 3.6% ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ตลาดศักยภาพสูง(Dynamic Market) ส่งออกเพิ่มขึ้น 40.5% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงในทุกตลาด โดยเฉพาะเกาหลีใต้, จีน, อินโดจีน และพม่า, ฮ่องกง, อาเซียน และไต้หวัน ส่วนตลาดศักยภาพรอง (Emerging Market) ส่งออกเพิ่มขึ้น 21.7% มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงในตลาดแอฟริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่ไทยขาดดุลการค้าในเดือน ส.ค.54 ซึ่งถือว่ากลับมาขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จากในเดือนเม.ย.54 ที่มียอดขาดดุล 796 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและวัตถุดิบ แต่อย่างไรก็ดี จากการขาดดุลดังกล่าวถือว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการนำเข้าสินค้าประเภททุน และวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคต
โดยในเดือนส.ค.นี้ ไทยนำเข้าสินค้าทุน คิดเป็นมูลค่า 5,947 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 37.6%, สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 4,890 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 77.5%, สินค้าอุปโภค-บริโภค มูลค่า 1,970 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 28.7%
นายยรรยง กล่าวถึงการส่งออกในปี 54 นี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 20% คิดเป็นมูลค่า 234,000 ล้านดอลลาร์ เกินจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 15% คิดเป็นมูลค่า 224,000 ล้านดอลลาร์ และมองว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย