นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปี 54 พบว่าจะมีเงินสะพัดทั้งสิ้น 35,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อนที่มีการใช้จ่าย 33,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 7,443.82 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.39% แบ่งเป็น ค่าอาหารต่อวัน 420.66 บาท เพิ่มขึ้น 34.31% ทำบุญ 1,659.79 บาท เพิ่มขึ้น 19.96% ค่าเดินทางไปทำบุญต่างจังหวัด 2,766 บาท เพิ่มขึ้น 0.01% และค่าที่พักขณะทำบุญต่างจังหวัด 3,155.26 บาท เพิ่มขึ้น 3.66%
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 67.9% ระบุว่าในช่วงกินเจมีค่าอาหารสูงกว่าช่วงที่ไม่กินเจ จากการที่ราคาผัก, ผลไม้, อาหารกระป๋อง, อาหารเจสำเร็จรูปแช่เย็น-แช่แข็งสูงขึ้นมาก ดังนั้นจึงยังคงซื้อปริมาณเท่ากับปีก่อน
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนจากทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,200 ตัวอย่าง
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เทศกาลกินเจในปีนี้ยังเหมือนปีก่อนคือ การจับจ่ายใช้สอยยังไม่คึกคักนัก อีกทั้งภาวะน้ำท่วมทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในอนาคต จึงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่เม็ดเงินจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนมาก
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานดี หาก ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อก็ยังทำได้ แต่เห็นว่าในช่วงนี้เงินเฟ้ออาจชะลอลงบ้าง จากราคาน้ำมันที่ลดลง และเป็นผลให้ค่าขนส่ง ฃรวมถึงราคาสินค้าลดลงได้
ทั้งนี้ เงินเฟ้ออาจกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี หลังจากรัฐบาลเริ่มโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยช่วงนั้นก็ยังสามารถทำได้ แต่ขณะนี้เห็นว่าน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้มากกว่า เพื่อให้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเห็นผลมากขึ้น แต่ยังไม่มีเหตุผลที่จะลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ทรุดหนักจนต้องลดดอกเบี้ย