มูลนิธิพลังงานฯชี้ยกเว้นเงินกองทุนน้ำมันสวนทางการส่งเสริมพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2011 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม(มพส.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลต่อนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้สถานีบริการไม่ขยายการจำหน่ายอี 20 และหากรัฐใช้นโยบายนี้ต่อเนื่อง จะกระทบต่อหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีภาระแบกรัฐราคาแอลพีจี-เอ็นจีวี

โครงสร้างการใช้น้ำมันที่เปลี่ยนไปจะส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันมากขึ้นจากปกติ เพราะขณะนี้มีเพียงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ประเภทเดียวที่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 1.40 บาทต่อลิตร แต่จากที่ราคาอยู่ในระดับเดียวกับเบนซิน 91 ส่งผลให้ผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 น้อยลง ในขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ประเภทอื่นต้องจ่ายชดเชยในอัตรา 1.4-13.5 บาทต่อลิตร เงินไหลเข้ากองทุนฯไม่พอเพียง ในขณะที่ภาระการชดเชยราคาของก๊าซหุงต้มและ NGV ของกองทุนน้ำมันมีสูงถึง 2,300 ล้านบาทต่อเดือน

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีเงินสด 16,800 ล้านบาท โดยมีหนี้อยู่ระหว่างการเบิกจ่าย 17,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงฐานะกองทุนน้ำมันที่ติดลบแล้วประมาณ 200 ล้านบาท เมื่อมองอนาคตไปไกลถึงสิ้นปี 2554 รัฐจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาจ่ายหนี้สินประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท จากภาระการชดเชยการนำเข้า LPG (ภาระ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน) การตรึงราคา NGV ให้ ปตท. (ภาระ 420 ล้านบาทต่อเดือน)การชดเชย LPG สำหรับโรงกลั่น (ภาระ 200 ล้านบาทต่อเดือน) และภาระหนี้อื่นๆ เช่น การจ่ายชดเชยสต๊อกน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันจากการลดราคาน้ำมันการงดจัดเก็บกองทุนน้ำมันเบนซิน อีกประมาณ 3,700 ล้านบาท และหากรัฐขยายการตรึงราคาน้ำมันออกไปถึงกลางปีและสิ้นปี 2555 จำเป็นต้องกู้เงินรวม 30,000 และ 45,000 ล้านบาท

ส่วนการที่นายพิชัย นริพทะพันธ์ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า การยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนของเบนซิน เป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพด้านน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์นั้น จากสถิติข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกและการศึกษาของ มพส. พบว่า รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศมีถึง 17 ล้านคัน แต่รถเครื่องสองจังหวะที่จำเป็นต้องใช้เบนซิน มีเหลือเพียงประมาณ 3 แสนคัน (หรือประมาณ2%) ในขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีทั้งหมดประมาณ2.9 ล้านคัน เหลือรถเก่าเกิน 15 ปีที่ต้องใช้เบนซินอยู่ประมาณ 1.6 แสนคัน (หรือประมาณ 5.7%)

ผลกระทบที่ตามมา คือ ผู้ใช้แก๊สโซฮอล์95 ซึ่งเป็นรถยนต์ของไทยส่วนใหญ่ประมาณ 80% หันกลับมาใช้เบนซิน 91 ในขณะที่ปั๊มน้ำมันชะลอการขยายอี20 จากที่ขณะนี้มีเพียง 9% ของปั๊มน้ำมันเบนซินทั้งหมด เพราะปั๊มน้ำมันมีปัญหาเรื่องจำนวนถังและหัวจ่ายน้ำมันที่มีได้จำกัด ทำให้ยอดใช้เอทานอลไม่ได้เพิ่มขึ้น สร้างปัญหาหนักต่อการผลิตเอทานอลที่กำลังผลิตมีมากกว่าความต้องการถึง 60%

"การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของเบนซินพร้อมจัดการผลกระทบอย่างเหมาะสม สามารถกระทำได้ แค่เพียงกระทรวงพลังงานจะดำเนินการพร้อมกับการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินเบนซิน91 โดยรถจักรยานยนต์สองจังหวะที่จำเป็นต้องใช้ เบนซิน ที่มีเพียง3 แสนคัน สามารถใช้น้ำมันเบนซิน95 ได้ ซึ่ง ปตท.และบางจากอาจต้องกลับมาช่วยจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ส่วนหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยในการพยุงการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ไว้ได้ ในขณะที่หัวจ่ายน้ำมันเบนซินเบนซิน 91 ที่ยกเลิกไป สามารถนำไปใช้สำหรับการจำหน่ายน้ำมัน E20 รองรับรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้"น.ส.สุวพร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ