นักวิเคราะห์ชี้วิกฤตหนี้ยุโรปส่งผลจีนกำหนดนโยบายเงินเฟ้อ-ศก.ยากกว่าเดิม

ข่าวต่างประเทศ Monday September 26, 2011 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิกฤตหนี้ยูโรโซนที่ทวีความรุนแรงทำให้รัฐบาลจีนกำหนดนโยบายรับมือเงินเฟ้อและกระตุ้นเศรษฐกิจยากกว่าเดิม เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของจีนและอาจเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ

"จีนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและนอกประเทศ" นายจาง หมิง นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนกล่าว

ปัจจุบันมีความกังวลมากขึ้นว่ากรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังตัดสินใจว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่แก่กรีซหรือไม่

นอกจากนั้นความหวังที่ว่ายูโรโซนจะฟื้นตัวในเร็ววันนี้ก็อันตรธานไป เมื่อบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี ยิ่งตอกย้ำว่ายูโรโซนยังไม่มีกลยุทธที่ยืดหยุ่นในการผลักดันตัวเองออกจากวิกฤตที่เกิดขึ้น

กรมศุลกากรจีนเปิดเผยว่า การค้าจีน-อียู เริ่มอยู่ในช่วงขาลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกจากจีนไปยังอียูขยายตัวเพียง 18.5% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 23.9%

นักวิเคราะห์จากธนาคารกลางจีนกล่าวว่า คงต้องใช้เวลาสักพักกว่าเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนจะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่จากการส่งออกไปยังอียูที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่าอุปสงค์จากญี่ปุ่นและประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง ช่วยชดเชยการค้าจีน-อียูที่ซบเซาลง

ขณะเดียวกันวิกฤตหนี้ยูโรโซนทำให้บรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่จัดการกับเงินเฟ้อได้ยากกว่าเดิม โดยนายจวง จูซอง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อรวมของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะอยู่ที่ 5.8% ในปีนี้

"รัฐบาลควรทบทวนนโยบายคุมเข้มทางการเงิน และใช้มาตรการต่างๆเพื่อปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ" นักวิเคราะห์กล่าว

เงินเฟ้อในจีนขยายตัวสู่ระดับ 6.2% เมื่อเทียบรายปีในเดือนสิงหาคม เหนือกว่าเพดานที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ระดับ 4% ขณะที่รัฐบาลกำหนดให้การควบคุมเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลักในปีนี้ พร้อมกับใช้นโยบายการเงินอย่างรอบคอบ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ